“เบื่ออาหาร” เมื่อพ่อแม่ไม่ยอมกินข้าวทำยังไงดี?

“เบื่ออาหาร” เป็นภาวะของผู้สูงอายุที่มักเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งจากสภาพร่างกาย และสภาพแวดล้อมรอบตัว ระบบย่อยอาหารทำงานลดลง อิ่มเร็ว แน่นท้องง่าย ร่วมกับท้องผูกได้ง่าย ยาหลายอย่างมีผลข้างเคียง ทำให้ไม่อยากอาหารซึ่งอาจเป็นอาการของโรคที่ซ่อนอยู่ เช่น โรคนิ่ว โรคไต โรคมะเร็ง โรคซึมเศร้า เป็นต้น

"เบื่ออาหาร" เมื่อพ่อแม่ไม่ยอมกินข้าวทำยังไงดี?

“เบื่ออาหาร” สัญญาณเตือนโรคที่ไม่ควรนิ่งนอนใจ

จากข้อความข้างต้นที่ได้กล่าวไปว่า “ไม่อยากอาหาร” ในผู้สูงอายุอาจเป็นอาการของโรคที่ซ่อนอยู่ก็เป็นได้ ลูกหลายๆคน ทุกข์ใจไม่ใช่น้อย เมื่อเห็นคุณพ่อคุณแม่ที่สูงอายุขึ้น เพลียและเหนื่อยง่าย กินข้าวน้อยลง ผอมและกล้ามเนื้อลีบอย่างรวดเร็ว อาหารที่เคยชอบกิน กลับบ่นว่าไม่อร่อย หรือไม่อยากกิน จนทำให้ลูกๆกลุ้มใจไม่รู้จะทำยังไงดี หากปล่อยไว้ให้นานไป จะทำให้ท่านยิ่งอ่อนแอ และอาจไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติหรือทำกิจกรรมที่ชอบได้ เราจะมาทำความเข้าใจกับสาเหตุที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่กินน้อยกัน และมีวิธีอะไรที่ช่วยทำให้ท่านกินอาหารได้ แม้สูงอายุแต่ก็ยังแข็งแรง สดชื่น ทำกิจกรรมต่างๆร่วมกับครอบครัวและเพื่อนได้เหมือนก่อน

  • “ทานน้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น” นั้นมีสาเหตุ

1. การรับกลิ่นรสเปลี่ยน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ทำให้อาหารแต่ละอย่างมีความอร่อยและรสชาติที่ดีคือกลิ่นและรสของจานนั้นๆ หากแต่เมื่อเข้าสู่วัยชราต่อมการรับรสหรือกลิ่นก็เปลี่ยนไป ตั้งแต่อายุ 60 ปี จำนวนต่อมรับรสเริ่มลดลง การแยกแยะรสหวาน เค็ม เปรี้ยว ขม จะแย่ลงไปตามอายุ ตามด้วยการรับกลิ่นจะแย่ลงและเมื่ออายุ 70 ปีขึ้นไป เมื่อไม่ได้รับกลิ่นและรสของอาหาร ก็จะรู้สึกว่าไม่อร่อย ทำให้ไม่อยากอาหาร

2. เหงือกฟันไม่แข็งแรง

เป็นสาเหตุหลักๆที่ทำให้ผู้สูงอายุไม่อยากทานอาหารเลยก็ว่าได้แต่มักถูกมองข้ามเพราะดูไม่มีอาการร้ายแรงอะไร แต่นั่นเป็นเพียงแค่ระยะแรกเท่านั้น สุขภาพช่องปากเป็นเรื่องที่บุตรหลานควรใส่ใจให้กับผู้สูงวัยในบ้านเป็นอย่างมาก เพราะความเจ็บปวดจากฟัน จากเหงือกหรือจากลิ้นมักส่งผลต่อการกินเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเคี้ยวไม่ละเอียด กลืนลำบาก ก็ทำให้ท่านไม่อยากกินข้าว

3. ระบบย่อยทำงานช้าลง

เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น กล้ามเนื้อควบคุมการบีบคลายตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ทำงานไม่ปกติ กระเพาะอาหารมักขยายไม่ได้มาก ลำไส้บีบตัวน้อย ทำให้การย่อยไม่สมบูรณ์ส่งผลให้ไม่สบายท้องและไม่อยากอาหาร

4. กินข้าวคนเดียวบ่อยๆ

เป็นความเหงาที่เกิดขึ้นจนส่งผลให้ผู้สูงอายุท่านใดที่ต้องนั่งทานข้าวคนเดียวบ่อยๆ เกิดภาวะซึมเศร้าได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุเพศหญิงที่จะเกิดโรคซึมเศร้าได้ง่ายกว่าผู้สูงอายุเพศชาย เมื่อถึงเวลาที่ต้องทานข้าวคนเดียวก็จะรู้สึกเศร้าและรู้สึกไม่อยากทานข้าว

 
  • เมื่อทานอาหารไม่เพียงพอจะส่งผลเสียอย่างไรบ้าง

วัดจากมวลกล้ามเนื้อที่ลดลงของผู้สูงอายุท่านนั้นๆหลังจากเริ่มทานน้อย

1. มวลกล้ามเนื้อลดลง 10%

ภูมิคุ้มกันต่ำลง สามารถติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

2. มวลกล้ามเนื้อลดลง 20%

ในกรณีที่ผู้สูงวัยมีแผลก็จะส่งผลให้แผลหายช้าลง อ่อนแรง ผิวหนังบาง

3. มวลกล้ามเนื้อลดลง 30%

อ่อนแรงจนไม่สามารถประคองตนเองเพื่อนั่งได้ สามารถเป็นแผลกดทับ ปอดอักเสบ และแผลเรื้อรังไม่หายได้

4. มวลกล้ามเนื้อลดลง 40%

เป็นตัวเลขที่อันตรายที่สุดเนื่องจากเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง

  • วิธีแก้ปัญหาผู้สูงอายุไม่อยากทานอาหาร

1. ดูแลระบบขับถ่าย

ลูกหลานที่บ้านควรดูแลให้ท่านมีการขับถ่ายที่เป็นเวลา ที่ทำให้ท้องไม่ผูก การทำเช่นนี้ก็จะทำให้ผู้สูงอายุท้องโล่ง ไม่อึดอัดและสามารถทานอาหารเข้าไปใหม่ได้

2. เมนูใหม่ๆ ไม่จำเจ

หมั่นเปลี่ยนเมนูใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อที่ลูกหลานผู้ดูแลคอยสังเกตว่าท่านชอบทานรสชาติแบบใด ยิ่งกว่านั้นคือต้องคอยปรุงรสและคัดสรรวัตถุดิบให้ตรงกับโภชนาการที่ท่านต้องการด้วย บางครอบครัวอาจทำอาหารที่มีรสสัมผัสนุ่มๆ อ่อนๆ เช่น ซุป โจ๊ก ข้าวต้ม สำหรับผู้สูงอายุที่ฟันไม่ค่อยแข็งแรง ก็จะทำให้ท่านเคี้ยวและกลืนอาหารได้ง่ายขึ้น

3. ทานอาหารพร้อมหน้าพร้อมตา

หากผู้สูงอายุต้องนั่งทานอาหารคนเดียวอาจจะเบื่อ ครอบครัวจึงต้องมีส่วนร่วมในการรับประทานอาหารร่วมกัน หรือพาผู้สูงอายุออกไปทานอาหารนอกบ้าน เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ และทำให้ทานอาหารได้มากขึ้น

4. ดูแลสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุอยู่เสมอ

เป็นประเด็นที่ต้องเน้นย้ำมากๆ กับสมาชิกในครอบครัวเนื่องจากเป็นปัญหาหลักๆ ที่ส่งผลต่อการกินโดยตรงและเป็นปัญหาที่ผู้สูงอายุมักไม่ยอมบอกลูกหลานว่าท่านเจ็บปวดตรงไหนเนื่องจากอาจมองว่าไม่ได้ร้ายแรงอะไร แต่หากปล่อยไว้นานก็จะส่งผลเสียให้กับท่านอย่างแน่นอน

กล่าวโดยสรุป การเบื่ออาหารของผู้สูงอายุมักมาจากหลายปัจจัย สิ่งสำคัญคือต้องหาให้ได้ว่าสาเหตุที่แท้จริงมาจากอะไรกันแน่หลังจากนั้นจึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้นท่วงที  แต่หากแก้แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรพาผู้สูงอายุไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และทำการตรวจร่างกายเบื้องต้นก่อน อย่างไรก็ตามการที่ครอบครัวคอยดูแลเอาใจใส่ ทำความเข้าใจกับสิ่งที่ผู้สูงอายุเป็น ก็จะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างถูกวิธีและเห็นผล


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

บทความอื่นๆ

หากสนใจหรืออยากสอบถามบริการ สามารถสอบถามได้ที่ รักษ์คุณ โฮมแคร์ & รักษ์คุณ เฮลท์ รีแฮบิลิเทชั่น

เบอร์โทรศัพท์ 062-442-5962 

เวลาทำการ จันทร์ – อาทิตย์ 08.00-20.00 น.

Line รักษ์คุณ โฮมแคร์: @rukkhun.hc (มี @)

เพิ่มเพื่อน

Facebook Page: รักษ์คุณ โฮมแคร์

รักษ์คุณ เฮลท์ รีแฮบิลิเทชั่น Rukkhun Health Rehabilitation Rukkhun Home Care รักษ์คุณ โฮมแคร์
บริการ รักษ์คุณ โฮมแคร์ เป็นสถานบริการดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยหลอดเลือดในสมองตีบ ผู้สูงอายุ ทั้งระยะสั้น และระยะยาว ดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัด ฟื้นฟูสมรรถภาพหลังอาการเจ็บป่วยโดยทีมสหวิชาชีพ ประกอบไปด้วย ทีมแพทย์เฉพาะทาง มีแพทย์ที่พร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชม. ทีมผู้ดูแลที่มีประสบการณ์ในการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ให้บริการกระตุ้นสมองด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า (TRANSCRANIAL MAGNETIC STIMULATION: TMS) และกายภาพบำบัดครบวงจร (REHABILITATION CENTER) พร้อมให้คำปรึกษาตรวจและรักษาโดยนักกายภาพบำบัดผู้เชี่ยวชาญ ที่นี่เราให้เป็นมากกว่าสถานบริการพยาบาลเพราะเราเน้นการให้บริการแบบครบวงจร ทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่รักในการบริการพร้อมดูแลผู้สูงวัยทุกท่านประดุจญาติผู้ใหญ่ของตนเอง มีบริการดูแลช่วยเหลือกิจวัตรประจำวัน ดูแลทำความสะอาดร่างกายโดยทั่วไปในกรณีที่ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ตรวจวัดความดัน ชีพจร อุณหภูมิ ออกซิเจน กายภาพบำบัด ดูแลสุขภาพตามคำสั่งแพทย์ บริการอาหาร 3 มื้อ และอาหารว่างที่มีทีมดูแลด้านโภชนาการให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลโดยเฉพาะ รวมทั้งมีกิจกรรมสันทนาการให้ผู้สูงวัย นอกจากนี้เราก็ใส่ใจด้านความปลอดภัยอย่างสูงสุดด้วยการติดกล้องวงจรปิดทุกจุดในสถานที่พักตลอด 24 ชั่วโมง