“แผลกดทับ” เป็นหนึ่งในบรรดาแผลหลายๆ ประเภทที่ส่งผลต่อชีวิตของเราได้โดยตรง เนื่องจากเกิดการกดทับเนื้อจนกลายเป็นเนื้อตายและมีแผลเกิดขึ้นมา การมีแผลชนิดนี้ทำให้เงื่อนไขและข้อจำกัดของการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นและทำกิจกรรมในระหว่างวันได้น้อยลงโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ก็มีความเสี่ยงในการเกิดแผลที่น่ากลัวนี้ได้เช่นเดียวกันเพราะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในการดูแล ดังนั้นหากเป็นแล้วต้องรีบรักษาให้หายโดยเร็วที่สุดเพราะมิเช่นนั้นอาจเกิดการติดเชื้อและเสียชีวิตได้
มารู้จัก “แผลกดทับ” คืออะไร
แผลชนิดนี้เกิดจากการที่ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง (เฉพาะที่) ถูกกดทับมาเป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงบริเวณที่ถูกกดทับได้อย่างสะดวกและส่งผลให้ผิวหนังบริเวณดังกล่าวเกิดรอยแดง บาดแผลและเนื้อตายในที่สุด ทั้งนี้อาจมีอาการเจ็บปวดร่วมด้วยโดยมักพบแผลชนิดนี้ตามตำแหน่งที่ผิวหนังติดกับกระดูกต่างๆ เช่น ส้นเท้า สะโพก และก้นกบเป็นต้น โดยส่วนใหญ่ปัญหาจากแผลชนิดนี้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุเนื่องจากไม่สามารถดูแลและทำแผลเองได้
ตำแหน่งที่มักเจอแผลกดทับ
จากที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าแผลชนิดนี้มักอยู่ตามบริเวณผิวหนังที่ติดกับกระดูก ดังนั้นตำแหน่งที่มักพบเจอจะประกอบด้วย
- บริเวณด้านหลังศีรษะและหู (เป็นบริเวณที่หากเกิดแผลก็จะสามารถเห็นความลึกได้ชัดเจนมากเนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ไม่มีเนื้อเยื่อใต้ชั้นผิวหนังนั่นเอง)
- บริเวณหัวไหล่
- บริเวณข้อพับแขน
- บริเวณก้น
- บริเวณสะโพกและเข่า
- บริเวณส้นเท้า
สาเหตุที่ทำให้เกิดแผลชนิดนี้มีอะไรบ้าง
แม้จะเป็นแผลที่เกิดจากการกดทับก็จริงแต่ปัจจัยที่ทำให้เกิดนั้นมีมากมาย โดยประกอบด้วยสาเหตุต่างๆ ดังนี้
1. ขาดการเคลื่อนไหว
เป็นสาเหตุที่ทักพบเจอในผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุ เนื่องจากสภาวะทางร่างกายที่ไม่สามารถขยับไปไหนได้มากจึงทำให้ขาดการเคลื่อนไหวและนอนติดเตียงอยู่ตลอดเวลา ทำให้ร่างกายถูกกดทับเป็นเวลานานๆ ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงไม่พอ
2. ผิวแห้งเพราะขาดความชุ่มชื้น
“ผิวแห้ง” เป็นปัญหาสภาพผิวที่สามารถพบเจอได้ในทุกเพศทุกวัยซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากต่อมไขมันผลิตน้ำมันหล่อเลี้ยงผิวได้น้อยกว่าปกติ จึงทำให้ผิวไม่สามารถกักเก็บความชุ่มชื้นไว้ได้นานและทำให้ผิวแห้งและเกิดแผลขึ้นมาได้
3. โภชนาการไม่เพียงพอ
ถือว่าเป็นหนึ่งสาเหตุที่สำคัญเนื่องจากปัญหานี้อาจมีเรื่องของสุขภาพจิตร่วมอยู่ด้วย “อาหาร” นั้นนับได้ว่าเป็นยาอีกแขนงหนึ่งที่ซึ่งหากเรารับประทานสิ่งที่มีประโยชน์ก็จะช่วยเสริมสร้างภูมิให้แก่ร่างกายได้ก็เป็นอย่างดีแต่หากสารอาหารที่ได้รับเข้าไปไม่เพียงพอก็อาจเกิดโทษกับร่างกายได้เช่นเดียวกัน จากการที่มีเรื่องสุขภาพจิตร่วมด้วยดังที่กล่าวไว้ข้างต้นนั้น อาการหลักๆ คือการที่ผู้ป่วยไม่อยากอาหารและรับประทานไม่ลงจึงส่งผลให้โภชนาการไม่พอต่อความต้องการในการร่างกายนั่นเอง
4. ปัญหาจากการควบคุมระบบขับถ่าย
อีกปัจจัยหนึ่งที่พบในผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุเนื่องจากไม่มีความสามารถที่จะควบคุมการอุจจาระและการปัสสาวะได้ ผลที่ตามมาคือความอับชื้นในผ้าอ้อมที่ใส่อยู่ซึ่งหากเกิดในขณะที่หลับแล้วปล่อยไปจนช่วงเช้าก็จะทำให้มีความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดแผลได้
5. ผิวหนังถูกเสียดสี
สาเหตุนี้เกิดจากการที่ผิวหนังเกิดการเสียดสีกับเนื้อผ้าของเครื่องนุ่งห่มที่สวมใส่จึงทำให้เกิดการอับชื้นและเกิดเป็นแผล
แผลกดทับมีกี่ระดับ
แบ่งได้ตามความรุนแรงออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้
ระดับที่ 1
ผิวหนังยังไม่เกิดการฉีกขาด
- รอยแดงเฉพาะที่และรอยแดงยังคงอยู่เมื่อใช้นิ้วมือกด
ระดับที่ 2
สูญเสียชั้นผิวหนังบางส่วนจนมองเห็นชั้นหนังแท้
- แผลมีสีชมพูหรือสีแดง
- ไม่พบเนื้อเยื่อใหม่
- ไม่พบเนื้อตาย
- มีตุ่มน้ำใสหรือตุ่มน้ำใสที่แตก
ระดับที่ 3
สูญเสียชั้นผิวหนังทั้งหมดจนมองเห็นชั้นไขมัน
- มองเห็นชั้นไขมันในแผล
- มองไม่เห็นชั้นพังผืด กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก
- อาจพบเนื้อเยื่อใหม่สีแดง
- อาจพบเนื้อตาย
ระดับที่ 4
สูญเสียชั้นผิวหนังทั้งหมดและชั้นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง
- มองเห็นและตรวจพบชั้นเนื้อ เยื่อพังผืดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และกระดูก
- อาจพบเนื้อตาย
แผลกดทับดูแลรักษาและป้องกันอย่างไร
การดูแลแผลชนิดนี้มีหลากหลากและแตกต่างกันเนื่องจากมีสภาพและระดับความรุนแรงที่ต่างกันรวมไปถึงตำแหน่งที่ต่างกันด้วย ดังนั้นในการดูแลหรือป้องกันจึงต้องพิจารณาไปตามกรณีของแต่ละบุคคลไป
1. ประเมินจากสภาพผิวหนังและแผล
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือสภาพของรอยแผลและบริเวณผิวที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดแผลขึ้นได้ โดยทั้ง 2 กรณีก็จะมีการดูแลที่ต่างกันออกไป
1.1 กรณีที่มีแผล
ปรับเปลี่ยนและจัดท่านอนให้ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยให้บ่อยครั้ง (2 ชั่วโมงเปลี่ยน 1 ครั้ง) หากเป็นท่านอนตะแคงให้เอียงได้ประมาณ 30-45 องศา หากนอนหนุนหมอนก็ให้มีความสูงประมาณ 30 องศาเพราะการปรับองศาเช่นนี้จะลดแรงเสียดสีได้ด้วยรวมถึงพยายามอย่านั่งกดทับแผลและทำความสะอาดแผลและบริเวณโดยรอบอยู่เสมอ
1.2 กรณีที่ไม่มีแผลแต่มีบริเวณเสี่ยง
ประเมินผิวหนังที่ถูกกดทับและบริเวณที่ใกล้เคียงทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนท่านอน โดยปกติหากเกิดรอยแดงนั้นรอยดังกล่าวจะหายภายใน 30 นาทีดังนั้นการเปลี่ยนท่านอนให้ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง
2. ทำกายภาพบำบัด
ผู้อ่านอาจสงสัยว่าการกายภาพบำบัดให้กับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยเกี่กับแผลชนิดนี้จะช่วยป้องกันหรือแก้ไขปัญหาที่พวกเขาพบเจอได้อย่างไร เหตุผลเป็นเพราะว่าการทำกายภาพบำบัดนี้จะช่วยให้การหมุนเวียนโลหิตกระจายไปหล่อเลี้ยงทุกๆ ส่วนได้ดีขึ้นส่งผลให้บริเวณที่มีรอยแดงเพราะถูกกดทับมีความเสี่ยงที่จะเกิดแผลน้อยลงนั่นเอง
3. ดูแลโภชนาการ
โภชนาการเป็นปัจจัยหนึ่งในการส่งเสริมการหายของแผล เนื่องจากสารอาหารที่สมดุลช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น สำหรับผู้ป่วยควรรับประทานอาหาร ประเภทโปรตีนเพื่อช่วยในการสงเสริมการหายของแผล โดยปริมาณโปรตีนที่ผู้ป่วยมีควรได้รับคือ 1.25-1.5 กรัม/น้ำหนักตัว 1กิโลกรัม/วันและควรได้รับสารอาหาร 30-35 กิโลแคลอรี่ตอกิโลกรัมต่อวัน นอกจากนี้ยังมีสารอาหารอื่นๆ เช่น สังกะสี วิตามิน และไขมันอื่นๆ ที่สามารถช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นได้ด้วย
4. ยาที่ใช้รักษา
ยาแก้ปวดเฉพาะที่ ผู้ป่วยอาจได้รับยาแก้ปวดเฉพาะที่หรือยาบรรเทาอาการปวดที่ไม่ผสมสารสเตียรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน หรือนาพรอกเซน จะเห็นได้ว่าจะมียาที่ใช้รักษาไม่มากมายนักเนื่องจากแผลชนิดนี้จะมีสภาพเป็นเนื้อตาย การผ่าตัดนำเนื้อตายออกหรือรับยาปฏิชีวนะจึงจะได้รับการนิยมมารักษาเสียเป็นส่วนใหญ่
5. ปรึกษาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ
หากสมาชิกในครอบครัวรู้สึกว่ายังมีความรู้ในเรื่องของการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่มีแผลชนิดนี้ยังไม่มากพอก็สามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือผู้เชี่ยวชาญที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยต่างๆได้ เพื่อนำข้อมูลและคำแนะนำมาปรับใช้ในการดูแลเองที่บ้าน
อย่างไรก็ดี “การป้องกันและดูแล” ยังคงเป็นหัวใจสำคัญที่คอยส่งเสริมและรักษาสมดุลของแผลที่แสนอันตรายชนิดนี้ได้เป็นอย่างดี ดังนั้นสมาชิกในครอบครัวจึงต้องหมั่นใส่ใจและรับคำแนะนำจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญให้ได้มากที่สุดเพื่อความปลอดภัยของผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่บ้านให้อยู่กับคนที่พวกเขาได้อีกนาน
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
สังเกตภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ มีความอันตรายอย่างไร
บทความอื่นๆ
ผู้ป่วย อัลไซเมอร์ ไม่ยอมนอน ดูแลอย่างไรดี?
ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว ในผู้สูงอายุ อันตรายหรือไม่ รักษาอย่างไร?
5 ท่า บริหาร หัวใจ ผู้ สูงอายุ ช่วยให้ผู้สูงวัยหัวใจแข็งแรง