“ดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัด” เป็นขั้นตอนที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งในการผ่าตัด เพราะแม้การผ่าตัดที่ถือว่าเป็นการรักษาที่เสี่ยงและอันตรายได้ผ่านมาแล้ว แต่การดูแลผู้ป่วยหลังจากการออกจากห้องผ่าตัดก็ถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะกับผู้ป่วยสูงอายุที่หากท่านไม่ได้รับการดูแลที่ถูกวิธีหรือเหมาะสมกับอาการก็อาจส่งผลให้อาการกำเริบได้ หรืออาจเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น แผลติดเชื้อ ฉีกขาด เป็นต้น ดังนั้น ลูกหลานจึงควรศึกษาวิธีการดูแลผู้ป่วยสูงอายุหลังผ่าตัดให้ดีเพื่อจะได้ไม่ส่งผลเสียนั่นเอง
“ดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัด” ดูแลอย่างไรไม่ให้เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน
สำหรับผู้ป่วยที่มีเคสหนักถึงขั้นผ่าตัดใหญ่ การดูแลทั้งก่อนและหลังผ่าตัดถือเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะจะช่วยให้การรักษาประสบผลสำเร็จมากขึ้น โดยก่อนผ่าตัดควรงดรับประทานอาหารและน้ำก่อนผ่าตัด 6 – 8 ชม. เพื่อป้องกันการสำลักอาหารระหว่างไม่รู้สึกตัว ทำความสะอาดร่างกาย ถอดเครื่องประดับ ของมีค่าต่างๆ ขับถ่ายให้เรียบร้อย ทำใจให้สงบ และพักผ่อนให้เพียงพอ
ภาวะแทรกซ้อนที่มักพบเจอในผู้ป่วยหลังทำการผ่าตัด
1.เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด ภาวะเลือดออก(bleeding) /แผลแยก
2.มีโอกาสและเสี่ยงต่อภาวะเสียสมดุลสารน้ำและเกลือแร่
3.มีโอกาสและเสี่ยงต่อการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
4.ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายตัวจากปวดแผลผ่าตัด
5.ผู้ป่วยอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนเนื่องจากผลของยาระงับความรู้สึกหรือยาที่ได้รับหลังผ่าตัด
6.เสี่ยงต่อการติดเชื้อแผลผ่าตัดเนื่องจากความแข็งแรงของผิวหนังลดลง
7.เสี่ยงต่อการเกิดการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลายลดลงเนื่องจากการเคลื่อนไหวร่างกายลดลงทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำส่วนปลาย
8.รู้สึกไม่สบายท้อง ท้องอืด แน่นท้องเนื่องจากการเคลื่อนไหวร่างกายลดลง ลำไส้เคลื่อนไหวน้อยลงเนื่องจากผลของยาระงับความรู้สึก
9.การดูแลตนเองบกพร่อง เนื่องจากอ่อนเพลีย
10.มีความวิตกกังวลหรือกลัวเกี่ยวกับโรคและแผนการรักษา

6 วิธีดูแลผู้ป่วยสูงอายุหลังการผ่าตัด
1.ดูแลอาหาร
“อาหารการกิน” ปัจจัยที่ทำได้ง่ายและมีผลต่อการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายอย่างมาก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่ท่านอยู่ในวัยที่ไม่สามารถสร้างสารที่ช่วยกระตุ้นให้แผลหายเร็วได้เท่าวัยอื่นๆ ดังนั้น บุตรหลานจึงควรเน้นการเพิ่มโปรตีนที่มีส่วนสำคัญในการสร้างเซลล์และองค์ประกอบต่างๆ อย่างเช่น โปรตีนจากเนื้อปลา หรือจากธัญพืชและถั่วต่างๆ ในขณะเดียวกัน “ไขมันดี” ก็คือสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะมีส่วนช่วยในการสมานแผลได้เร็วขึ้น โดยเลือกเป็นไขมันดีจากพืช ปลา หรือเต้าหู้ต่างๆ เป็นต้น
2.บริหารร่างกายเล็กน้อย
การลุกขึ้นมาขยับเคลื่อนไหวร่างกายบ้าง มีส่วนช่วยให้การฟื้นฟูร่างกายใช้ระยะเวลาสั้นลง เริ่มจากการกำมือและแบมือสลับกัน กระดกปลายเท้าขึ้น งอเข่าและหมุนขา เพื่อเป็นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อและลดอาการปวดตึงบริเวณข้อต่อต่างๆ โดยอาจทำเพียงท่าละ 10 ครั้ง ทั้งช่วงเช้าและช่วงเย็น พร้อมทั้งปรับท่านอนในทุกๆ 1-2 ชั่วโมง
3.ใส่ใจในการทำความสะอาดบาดแผล
ถือว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก และหากละเลยเพียงเล็กน้อยก็อาจนำมาซึ่ง “ภาวะแผลติดเชื้อ” ได้ ผู้ป่วยและผู้ดูแลควรเน้นเรื่องสุขอนามัยที่ดี เช่น ดูแลเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์สำหรับทำแผลให้สะอาดปราศจากเชื้อโรค หรือหากไม่มั่นใจในการทำความสะอาดบาดแผล ควรเลือกใช้บริการจากสถานพยาบาลใกล้เคียงที่ได้คุณภาพทั้งในเรื่องบุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วย
4. ใส่ใจเรื่องอุปกรณ์
เนื่องจากผู้ป่วยสูงวัยบางท่านต้องมีอุปกรณ์ในการดูแล ซึ่งก็จะใช้แตกต่างกันไปตามอาการหรือบริเวณแผลที่ผ่าตัด ซึ่งอาจเป็น เตียงนอน เสาน้ำเกลือ อุปกรณ์ทำแผลต่างๆ ไม้เท้า เป็นต้น บุตรหลานควรพิถีพิถันในการเลือกให้อุปกรณ์เหล่านี้มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการรักษา รวมถึงความสะอาดด้วยเช่นกัน
5.หลับพักผ่อนให้เพียงพอ
จากที่กล่าวไปข้างต้นว่าตัวผู้ป่วยในบางรายอาจมีการรู้สึกไม่สบายตัวหลังจากการผ่าตัด อาจจะเนื่องด้วยจากแผลหรือความวิตกกังวลต่างๆ ในการรักษาและยิ่งหากเป็นผู้สูงอายุก็จะยิ่งเพิ่มความยากในการดูแลกว่าผู้ป่วยวัยอื่นๆ ดังนั้นบุตรหลานจึงควรดูแลให้ผู้สูงวัยนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการนอนดึก โดยเฉพาะในระยะ 2 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด เพื่อให้ส่งผลดีต่อการพักฟื้นนั่นเอง
6. ติดต่อแพทย์ผู้ให้การรักษาอยู่เสมอ
แม้ว่าแพทย์จะอนุญาตให้ผู้สูงอายุออกจากการพักฟื้นของทางโรงพยาบาลได้แล้วและสามารถกลับมาพักฟื้นที่บ้านได้ แต่อย่างไรก็ตาม บุตรหลานควรหมั่นสังเกตและประเมินอาการของผู้สูงอายุให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้และพูดคุยกับแพทย์อยู่เสมอ เพราะถ้าหากมีอาการที่ผิดสังเกตก็จะได้รีบเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงทีนั่นเอง
ประโยชน์ที่ผู้สูงอายุจะได้รับหากบุตรหลานดูแลได้ถูกวิธี
1. ผู้ป่วยปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด
2. ผู้ป่วยมีความปลอดภัยมากขึ้น ไม่มีอาการปวดหรืออาการปวดทุเลาลง
3. ผู้ป่วยสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น
4. ผู้ป่วยและครอบครัวลดความวิตกกังวลได้เกี่ยวกับอาการและแผนการรักษา
ท้ายที่สุด การพักฟื้นหลังผ่าตัด ไม่เพียงต้องใส่ใจในเรื่องข้างต้นที่กล่าวมา แต่บุตหลานควรให้ความสำคัญกับการดูแลทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยสูงวัยท่านนั้นๆ ด้วย เพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมอย่างเต็มประสิทธิภาพรวมถึงท่านจะได้มีกำลังใจในการดูแลตัวเองให้หายโดยเร็ว นอกจากนี้ ทุกคนในครอบครัวต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และพาผู้สูงวัยเดินทางไปพบแพทย์ตามนัดตลอดการพักฟื้นเพื่อที่ผลของการรักษาจะออกมาดีตามที่คาดหวัง
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
บทความอื่นๆ
ผู้ป่วย อัลไซเมอร์ ไม่ยอมนอน ดูแลอย่างไรดี?
ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว ในผู้สูงอายุ อันตรายหรือไม่ รักษาอย่างไร?
5 ท่า บริหาร หัวใจ ผู้ สูงอายุ ช่วยให้ผู้สูงวัยหัวใจแข็งแรง