“ภาวะเครียด” ภาวะที่ใครๆ ก็มีได้ หรือหลายๆ คนก็กำลังประสบปัญหากับภาวะนี้อยู่ ความเครียดนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่ที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็เห็นจะเป็นวัยสูงอายุที่ถ้าหากเกิดภาวะนี้ขึ้น เพราะจะมีปัญหาหลายๆ อย่างตามมา สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะผู้สูงวัยนั้นไม่ได้มีปัญหาเพียงความเครียดที่ต้องรับมือเท่านั้นเพราะพวกท่านเป็นวัยที่ต้องสู้กับอีกหลายๆ ปัญหาในร่างกายของตนเอง เพราะเมื่อยิ่งอายุมากขึ้นระบบต่างๆ รวมถึงอวัยวะในร่างกายก็เริ่มเสื่อมสภาพลง จึงต้องคอยหมั่นดูแลตัวเองนั่นเอง และถ้าหากมีปัญหาความเครียดเข้ามาอีก ก็อาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้ง่ายๆ บุตรหลานจึงต้องเฝ้าระวังอย่าให้ภาวะนี้เกิดขึ้น
“ภาวะเครียด” ในผู้สูงวัย เกิดขึ้นได้อย่างไร และมีอาการยังไงบ้าง?
การเข้าวัยผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงมาก ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ การเปลี่ยนแปลงในด้านสภาพแวดล้อมต่างๆ หรือบุคคลใกล้ชิด ต่างส่งผลต่อความเครียดของผู้สูงอายุทั้งสิ้น โดยเรื่องของจิตใจที่มีการเปลี่ยนแปลงนั้นมักเกี่ยวข้องกับความรู้สึกสูญเสีย เช่น การเคยเป็นที่ยอมรับ เป็นผู้นำ หรือสูญเสียคนใกล้ชิด ทำให้เกิดความรู้สึกว้าเหว่ เหงา เบื่ออาหาร ไม่มีแรง และมีปัญหาทางสังคมจนเกิดเป็นความเครียดทางจิตใจ
สาเหตุของการเกิดความเครียดในผู้สูงอายุ
1.ทางด้านร่างกาย
เกี่ยวกับสุขภาพและการเจ็บป่วย ทั้งรุนแรงและไม่รุนแรงทำให้เกิดความเครียดได้ การพักผ่อนไม่เพียงพอ ฯลฯ
2.ทางด้านจิตใจ
เช่น ผู้ที่มีความรับผิดชอบสูง เวลาที่มีเรื่องต่างๆ เข้ามากระตุ้นก็จะทำให้เกิดความเครียดได้ง่าย หรือเป็นผู้ที่วิตกกังวลง่าย ขาดทักษะในการปรับตัว
3.ทางด้านสังคม
มีสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความบกพร่องในเรื่องของการปรับตัว ขาดผู้ที่คอยให้ความช่วยเหลือ ถ้ามีผู้ที่ให้ความช่วยเหลือก็จะทำให้ความเครียดลดน้อยลงไป มีสิ่งมากระตุ้นมากเกินความสามารถของตนเอง ความขัดแย้งในครอบครัว ฯลฯ
วิธีสังเกตว่าผู้สูงอายุเครียดหรือไม่
1. นิ่ง พูดคุยน้อย
เมื่อผู้สูงอายุนิ่ง ไม่ค่อยตอบสนอง ส่งผลให้ผู้ดูแลไม่ทราบว่าจะพูดอย่างไรให้ถูกใจ บางครอบครัวจึงปล่อยให้ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพัง ซึ่งไม่ถูกต้อง คำแนะนำสำหรับผู้ดูแล ควรให้ความรักแก่ผู้สูงอายุ หมั่นสังเกตและใส่ใจความรู้สึก อารมณ์และความคิด พร้อมทั้งเปิดโอกาสผู้สูงอายุได้พูดในสิ่งที่ต้องการ หรือชวนพูดคุยเรื่องที่ผู้สูงอายุสนใจ เช่นคุยถึงเรื่องราวในอดีตที่มีความสุข โดยแนะนำให้ผู้ดูแลควรเป็นฝ่ายตั้งคำถามก่อน และไม่ควรขัดจังหวะ หรือตัดบท
2. รับประทานอาหารน้อยลง หรือแทบไม่กินเลย
เมื่อผู้สูงอายุเริ่มรับประทานอาหารได้น้อยลง น้ำหนักลดลงอย่างมากโดยที่ไม่ได้ตั้งใจอดอาหาร มีความเสี่ยงต่อภาวะขาดสารอาหาร ลูกหลานควรปรับเปลี่ยนเมนูอาหารให้น่ารับประทานขึ้น โดยเลือกเมนูอาหารอ่อนๆ ย่อยง่ายและไม่กระทบต่อโรคประจำตัวของผู้สูงอายุ
3. ไม่อยากทำอะไร เฉื่อยชา
ความสนใจสิ่งต่างๆ ลดลงมาก หรือไม่อยากพูดคุยกับใคร ไม่อยากทำอะไรเกือบทุกวัน เบื่อหน่ายมาก อะไรที่เคยชอบก็ไม่อยากทำ รวมทั้งไม่สนใจที่จะดูแลตัวเอง จากที่เคยเป็นคนใส่ใจดูแลตนเองมาก แต่ตอนนี้กลับไม่สนใจการแต่งตัว ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง แม้แต่เรื่องง่ายๆ เช่น การแต่งตัว เป็นต้น หากผู้สูงอายุในบ้านมีอาการลักษณะนี้ แนะนำให้ผู้ดูแลพยายามกระตุ้นให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะกิจกรรมง่ายๆ ให้เขารู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองมากขึ้น
4. ชอบนอนเฉยๆ ชวนไปไหนก็ไม่ค่อยอยากไป
ในกรณีผู้สูงอายุชอบเก็บตัว และแยกตัวจากผู้อื่น ลูกหลานชวนไปไหนก็ไม่อยากไป แนะนำให้ลูกหลานพยายามเข้าหา ควรหากิจกรรมทำ โดยควรเริ่มจากกิจกรรมเล็กๆ ในครอบครัว เพราะหากปล่อยทิ้งไว้เช่นนี้จะทำให้ผู้สูงอายุปลีกตัวมากขึ้น อารมณ์จะยิ่งเลวร้ายลง
5. นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินไปเกือบทุกวัน
ปัญหาการนอน และหากตอนกลางคืนไม่หลับ อาจชวนทำกิจกรรมเบาๆ เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ หรือฟังธรรมมะ หากนอนไม่หลับติดต่อกัน 3-4 วันขึ้นไป ควรพบแพทย์ หรือหากผู้สูงอายุชอบนอนกลางวัน ถ้าง่วงมากให้นอนได้ระหว่าง 12:00-14:00 น. แล้วปลุก เพราะถ้านอนกลางวันมากเกินไป ตอนกลางคืนย่อมมีปัญหาการนอน
วิธีป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุเกิดความเครียด
1. พักผ่อนให้มากพอ
ควรพักผ่อนทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ไม่เคร่งเครียดหรือวิตกกังวลจนเกินเหตุ
2. ตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ
เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สำคัญมากๆ เพราะการตรวจสุขภาพให้กับผู้สูงอายุอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งจะทำให้บุตรหลานทราบถึงทุกๆ ความเคลื่อนไหวในเรื่องสุขภาพของผู้สูงอายุท่านั้นๆ ซึ่งนอกจากเรื่องสุขภาพจิตแล้วก็ยังสามารถทราบสุขภาพกายด้วย จึงทำให้บุตรหลานสามารถตั้งรับได้อย่างทันท่วงทีนั่นเอง
3. พบปะสังสรรค์
แน่นอนว่าการอยู่บ้านคนเดียวจะทำให้ผู้สูงอายุเกิดความเครียดได้ง่าย ดังนั้นเมื่อมีเวลาว่าง ลูกหลานสามารถพาท่านไปพบกับญาติท่านอื่นๆ ในครอบครัวหรือพาผู้สูงอายุไปพบกับเพื่อนๆ ทั้งนี้หากสมาชิกในบ้านสามารถรวมตัวกันได้สัก 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ ก็ควรนัดรับประทานอาหารร่วมกันกับผู้สูงวัยที่บ้านเพื่อให้ท่านได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับบุตรหลาน
4. พาท่านออกกำลังกาย
โดยอาจจะเป็นการทำกายบริหารง่ายๆ หรือการเดินเล่นในช่วงเช้า ทั้งนี้การให้ความรู้เรื่องสุขอนามัยให้กับผู้สูงอายุก็เป็นเรื่องที่ดี หรือที่เรียกว่าการให้สุขศึกษา โดยให้คำแนะนำในเรื่องการเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ควรนั่งหรือนอนเฉยๆเป็นเวลานาน ควรมีการเคลื่อนไหวร่างกายตามความเหมาะสมเป็นการช่วยให้การไหลเวียนเลือดในร่างกายดีขึ้น เป็นต้น
หากผู้สูงอายุเกิดภาวะความเครียด ควรดูแลอย่างไร?
1.ออกกำลังกาย
พาท่านออกมาขยับแขน ขยับยา ได้มีการเคลื่อนไหวและได้ออกกำลังมากขึ้น การทำเช่นนี้จะทำให้ระบบหมุนเวียนโลหิตทำงานได้ดีมากขึ้น ท่านจะรู้สึกสบายตัวมากขึ้น
2. ศาสนาและการสวดมนต์
การพาท่านร่วมกิจกรรมทางศาสนาไม่ว่าจะเป็น ตักบาตร ทำบุญ สวดมนต์ก่อนนอน ถือเป็นสิ่งที่ทำให้จิตใจของผู้สูงอายุเกิดความสงบได้
3.สร้างอารมณ์ขัน
การทำให้ท่านหัวเราะได้บ่อยๆ จะทำให้ท่านมีความสุข โดยเฉพาะหากเป็นลูกหลานที่เล่าเรื่องขำขันหรือหยอกล้อให้เกิดความสนุก ก็จะทำให้ท่านอิ่มใจมากขึ้น
4.งานอดิเรก
ไม่ว่าจะเป็น เล่นดนตรี ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ ถือเป็นงานอดิเรกที่ทำให้ท่านได้ผ่อนคลายทั้งสิ้น ฉะนั้นบุตรหลานควรหางานอดิเรกที่เหมาะสมกับท่านไว้สัก 1-2 กิจกรรม
ท้ายที่สุด การดูแลให้ผู้สูงวัยอยู่ไกลจากภาวะเครียดคือเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะถ้าหากสุขภาพจิตดี สุขภาพกายก็จะดีตามมาด้วย แม้ในวัยชราจะไม่สามารถทำตามใจตนเองได้เหมือนสมัยหนุ่มสาว แต่ในบั้นปลายชีวิตของพวกท่านนั้น การได้อยู่กับลูกหลานได้นานๆ ก็อาจจะเป็นความสุขที่สูงสุดของผู้สูงอายุหลายๆ คน
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
บทความอื่นๆ
ผู้ป่วย อัลไซเมอร์ ไม่ยอมนอน ดูแลอย่างไรดี?
ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว ในผู้สูงอายุ อันตรายหรือไม่ รักษาอย่างไร?
5 ท่า บริหาร หัวใจ ผู้ สูงอายุ ช่วยให้ผู้สูงวัยหัวใจแข็งแรง