“APHASIA” หรือ อะฟาเซีย คือความบกพร่องทางด้านการสื่อสาร ส่วนมากพบในผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคหลอดเลือดสมอง ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการสื่อสารรวมถึงทักษะการคำนวณ การสะกดคำ การพูด การเขียน และ การฟัง ซึ่งอาการจะแตกต่างไปในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับบริเวณที่สมองได้รับความเสียหาย อย่างไรก็ดี อาการนี้มีสาเหตุมากจากอะไรกันแน่ และมีวิธีการป้องกันให้กับผู้สูงอายุอย่างไรบ้าง เป็นคำถามที่บุตรหลานต้องศึกษาเพื่อหาคำตอบ
“APHASIA” เกิดจากอะไร และมีอาการอย่างไรบ้าง?
ภาวะนี้คือ ความบกพร่องทางการสื่อความ เป็นความผิดปกติทางการสื่อสาร ซึ่งมักเป็นผลมาจากสมองได้รับความเสียหายจากภาวะเส้นเลือดในสมองแตกหรือการได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ ทำให้ผู้ป่วยมีความผิดปกติในด้านทักษะของการสื่อสารและการใช้ภาษา ไม่สามารถโต้ตอบหรือทำความเข้าใจได้ และอาจมีปัญหาทางด้านการอ่านและการเขียนร่วมด้วย
สาเหตุ
ภาวะบกพร่องทางการสื่อความเป็นผลมาจากการที่สมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการใช้ภาษาได้รับความเสียหาย ทำให้การลำเลียงเลือดเข้าสู่ในบริเวณดังกล่าวถูกขัดขวางจนทำให้เนื้อสมองตายในที่สุด ซึ่งภาวะ Aphasia อาจเกิดขึ้นได้อย่างกะทันหันหลังเกิดภาวะเส้นเลือดในสมองแตก ภาวะสมองขาดเลือด การได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะหรือการเข้ารับการผ่าตัดสมอง นอกจากนี้ ในบางรายอาการอาจจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ โดยสาเหตุอาจมาจากเนื้องอก การติดเชื้อในสมอง โรคทางระบบประสาท หรือภาวะเสื่อมถอยของสมองอย่างโรคสมองเสื่อม เป็นต้น
ประเภทของภาวะบกพร่องทางการสื่อสาร
1. ความบกพร่องทางด้านความเข้าใจ
ผู้ป่วยมีปัญหาทางด้านการฟังและการอ่าน ผู้ป่วยพูดได้ปกติ แต่ไม่สามารถเข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นพูด ไม่สามารถใช้ภาษาได้อย่างถูกต้อง มีแนวโน้มที่จะพูดประโยคยาว ๆ หรือประโยคที่ซับซ้อนติดต่อกันโดยไม่มีความหมาย ใช้คำที่ไร้สาระ คำฟุ่มเฟือย หรือใช้คำไม่ถูก และไม่ทราบว่าผู้อื่นไม่เข้าใจ
2. ความบกพร่องทางด้านการพูด
ผู้ป่วยมีปัญหาด้านการพูดและการเขียน ส่งผลให้มีปัญหาด้านการสื่อสารโดยเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นสื่อสารได้ดีกว่าการพูดสื่อสารออกไป ผู้ป่วยจะสื่อสารได้แค่ประโยคสั้น ๆ พูดไม่จบประโยคหรืออาจลืมคำบางคำ และไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นสื่อสารได้ทั้งหมด
3.ความบกพร่องทั้งด้านความเข้าใจและการพูด
ผู้ป่วยเหล่านี้มีปัญหาทั้งทางด้านการรับรู้และการแสดงออกของภาษา ในระดับใกล้เคียงกันหรือพอพอกัน
4. ความบกพร่องด้านการนึกคำพูด
ผู้ป่วยมีความยากลำบากในการนึกคิดคำศัพท์ หรือใช้คำพูดอื่นแทนคำที่ต้องการพูด

ลักษณะอาการ
ผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยของโรคนี้ จะพูดได้ลำบาก พูดทวนคำไม่ได้ บอกชื่อสิ่งของไม่ได้ แต่เข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นพูด โดยจะพบว่าผู้ป่วยมีความเสียหายของสมองบริเวณ Broca’s area หรือ Left inferior frontal lobe ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุท่านนั้นๆ แสดงอาการเหล่านี้ออกมา
การฝึกการพูดเบื้องต้น สำหรับผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยในภาวะนี้
1.กระตุ้น บริหารอวัยวะในช่องปาก
2.กระตุ้นให้ออกเสียงธรรมชาติ เช่น ไอ หาว หัวเราะ
3.กระตุ้นออกเสียง อา อู อี
4.ให้นับเลข, ท่องชื่อวันใน 1 สัปดาห์, ชื่อเดือน หรือร้องเพลงที่ชอบและคุ้นเคย
5.ฝึกให้พูดตามจากคำ วลี หรือประโยค
6.ฝึกเรียกชื่อคน หรือสิ่งของที่ใช้บ่อยๆ
หลักการบริหารอวัยวะในช่องปาก
ซึ่งจะมีความสำคัญในการทำให้ผู้ป่วยออกเสียงได้ดี
-
ริมฝีปากและแก้ม
-
ลิ้น
-
ขากรรไกร
การป้องกันภาวะความบกพร่องด้านการสื่อสารในผู้สูงอายุ
การลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ สามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่สร้างความเสียหายต่อสมองและดูแลสุขภาพของสมองด้วยวิธีต่างๆ เช่น
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารที่มีโซเดียมและไขมันต่ำ
- งดการสูบบุหรี่
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสมและเท่าที่จำเป็น
- ควบคุมระดับความดันโลหิตและไขมันในเลือด
อย่างไรก็ดี หากผู้สูงอายุในครอบครัวใดมีความเสี่ยงที่สามารถเป็นผู้ป่วยในภาวะนี้ได้ ควรรีบพาท่านไปตรวจและรักษาให้โดยเร็ว เนื่องจากเป็นภาวะที่ไม่ควรวางใจ หรือถ้าหากไม่แน่ใจในเรื่องของการดูแลผู้สูงอายุ ก็สามารถขอรับคำแนะนำจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญได้ เพื่อการป้องกันที่ถูกต้องให้กับผู้สูงอายุนั่นเอง
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
บทความอื่นๆ
ผู้ป่วย อัลไซเมอร์ ไม่ยอมนอน ดูแลอย่างไรดี?
ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว ในผู้สูงอายุ อันตรายหรือไม่ รักษาอย่างไร?
5 ท่า บริหาร หัวใจ ผู้ สูงอายุ ช่วยให้ผู้สูงวัยหัวใจแข็งแรง