“บ้านหมุน” อาการที่มักเกิดขึ้นบ่อยในผู้สูงอายุ โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันเมื่อลุกขึ้นอย่างกระทันหัน หรือหลักๆ คือผู้ที่มีอาการจะรู้สึกเวียนศีรษะและเห็นว่าสิ่งต่างๆ รอบตัวหมุนไปรอบๆ ทั้งๆ ที่ตนเองอยู่กับที่และไม่มีการเคลื่อนไหว ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเสียสมดุลการทรงตัวและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้
“บ้านหมุน” อาการเล็กๆ แต่เป็นเรื่องใหญ่
แท้จริงแล้วอาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัยและไม่ได้เป็นอาการเฉพาะของโรคใดโรคหนึ่ง แต่ด้วยหลักๆ นั้นการเวียนศีรษะประเภทนี้มักมีอาการร่วมหลายอย่าง เช่น สมองตื้อ รู้สึกไม่แจ่มใส มึนงง และการทรงตัวที่มีปัญหา ท้ายที่สุดคือนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้ ซึ่งหากเทียบกันจริงๆ แล้ว “ผู้สูงอายุ” เป็นวัยที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดเนื่องจากหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาจะรักษาการบาดเจ็บได้ยากกว่าวัยอื่นๆ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
การเวียนศีรษะเช่นนี้มีสาเหตุมาจาก…
1. ความผิดปกติของหู
เป็นความผิดปกติของหูชั้นในหรือระบบสมองที่ส่งผลต่อการทรงตัว
2. ความผิดปกติของระบบอื่นๆ
เช่น ระบบไหลเวียนโลหิตที่อาจทำงานไปหล่อเลี้ยงส่วนของร่างกายได้ไม่ดีมากนัก หรือระบบสายตา
3. ฤทธิ์จากยาบางชนิด
ผู้สูงอายุบางท่านต้องรับประทานยาบางชนิดอยู่บ่อยครั้งซึ่งอาจเป็นยาเพื่อบรรเทาโรคประจำตัว แต่ฤทธิ์ข้างเคียงบางอย่างของยานั้นๆ อาจส่งผลให้ผู้สูงอายุที่รับประทานมีอาการเวียนศีรษะได้
4. ปัจจัยอื่นๆ
เช่น การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ เมารถ หรือเมาเรือ เป็นต้น

กับคำถามที่ว่า “บ้านหมุน” อันตรายหรือไม่?
การเกิดอาการนี้จะอันตรายหรือไม่ขึ้นอยู่กับสาเหตุ เนื่องจากในผู้สูงอายุบางรายมีสาเหตุมาจากเนื้องอกหรือหลอดเลือดที่ทำงานผิดปกติซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ แต่หากเป็นสาเหตุทั่วๆ ไป เช่น น้ำในหูไม่เท่ากัน หินปูนในหูชั้นในหลุด ก็จะไม่รุนแรง สามารถรักษาได้ และอีกประเด็นหนึ่งที่ลืมไม่ได้คือหากเกิดอุบัติเหตุจากการเวียนศีรษะเช่นนี้ก็จะต้องรักษาเป็นรายกรณีไป
แนวการรักษาของแพทย์หลังจากการวินิจฉัย
1. รักษาตามสาเหตุของโรค
จากที่กล่าวไปเบื้องต้นว่าการมีอาการเช่นนี้ต้องประเมินว่าสาเหตุที่แท้จริงคืออะไร เนื่องจากจะได้ถูกรักษาอย่างถูกจุดนั่นเอง
2. รักษาตามอาการ
เป็นการให้ยาเพื่อบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น เช่น เวียนศีรษะ คลื่นไส้ และอาจมีการอาเจียนในบางราย
3. บริหารระบบการทรงตัว
หากผู้สูงอายุท่านใดมีอาการเวียนศีรษะที่ดีขึ้นแล้ว ก็ให้เริ่มบริหารระบบทรงตัวเนื่องจากร่างกายจะได้สามารถปรับสมดุลในการทรงตัวได้ ซึ่งสามารถบริหารอวัยวะต่างๆ เช่น สายตา คอ แขน ขา เป็นต้น และอามีการเดินและยืนร่วมด้วย
วิธีป้องกันเองได้ง่ายๆ ที่บ้าน
-
หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการ
เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล การพักผ่อนไม่เพียงพอ สารที่ก่อภูมิแพ้ (กรณีที่เป็น)
-
หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม-คาเฟอีน
เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม รวมไปถึงบุหรี่
-
หมั่นออกกำลังกาย
สามารถทำร่วมกับการฝึกบริหารระบบทรงตัวได้
-
หลีกเลี่ยงสถานที่ที่เสียงดัง
เนื่องจากอาการเวียนศีรษะประเภทนี้มักมีสาเหตุมาจากหูได้เช่นเดียวกัน เช่น น้ำในหูไม่เท่ากัน หินปูนในหูหลุด เป็นต้น ดังนั้นสมาชิกในบ้านควรจัดผู้สูงอายุพักผ่อนในที่ที่เงียบสงบหรือที่ที่มั่นใจได้ว่าจะไม่มีเสียงดังที่สะเทือนบริเวณหูของท่าน
อย่างไรก็ดี อาการเวียนหัวเช่นนี้เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย หากมีอาการที่รุนแรงควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยโรค และพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
บทความอื่นๆ
ผู้ป่วย อัลไซเมอร์ ไม่ยอมนอน ดูแลอย่างไรดี?
ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว ในผู้สูงอายุ อันตรายหรือไม่ รักษาอย่างไร?
5 ท่า บริหาร หัวใจ ผู้ สูงอายุ ช่วยให้ผู้สูงวัยหัวใจแข็งแรง