อาการปวดหลัง อาการที่ผู้สูงอายุต้องเจอเมื่อมีอายุเพิ่มขึ้น เนื่องจากอวัยวะเสื่อมถอยลงไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น และแม้ว่าการปวดหลังนี้จะเป็นโรคที่สามารถเป็นกันได้ทุกเพศทุกวัย แต่ ผู้สูงอายุ ยังคงเป็นวัยของผู้ป่วยที่มีความน่าเป็นห่วงกว่าวัยอื่นๆ เพราะถ้าหากมีอาการเจ็บป่วยขึ้นมา ก็จะรักษายากกว่าวัยหนุ่มสาวนั่นเอง อย่างไรก็ดี อาการปวดกล้ามเนื้อหลังในผู้สูงอายุเช่นนี้ จะตามมาด้วยอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ อีก นั่นจึงเป็นเหตุผลที่บุตรหลานควรดูแลและพาผู้สูงอายุไปรักษาให้หายหรือบรรเทาอาการให้ดีขึ้น
“อาการปวดหลัง” ในผู้สูงอายุ เกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่?
หลายๆ คนอาจสงสัยว่า ทำไมยิ่งเราอายุมากขึ้น การปวดหลังก็เหมือนจะเป็นปัญหาที่กลายเป็นเงาตามตัวมากขึ้น เพราะไม่ว่าจะทำอะไร เคลื่อนไหวไปไหน การปวดเช่นนี้ก็จะเกิดขึ้นตามมาเสมอ อย่างไรก็ดี ในผู้สูงอายุนั้น การมีอายุมากขึ้นไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยเดียวที่ทำให้เกิดการปวดหลัง หากแต่ยังมีอีกหลายๆ ปัจจัยและพฤติกรรมอื่นๆ ที่ส่งผลให้มีอาการปวดเช่นนี้ด้วย
สาเหตุของการปวดหลังในผู้สูงอายุ
-
ยกของหนักเป็นประจำ หรือทำกิจกรรมที่ต้องก้มๆ เงยๆ ตลอดเวลา
-
สูบบุหรี่บ่อย ทำให้ร่างกายไม่สามารถลำเลียงสารอาหารไปยังหมอนรองกระดูกสันหลังได้เพียงพอ
-
ที่นอนแข็งหรือนุ่มเกินไป รวมทั้งระดับความสูงของหมอนที่ไม่เหมาะสม
-
ออกกำลังกายหักโหมหนักจนเกินไป ทำให้กล้ามเนื้อทำงานหนัก หรือเกิดจากการขาดการออกกำลังกาย ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแอ
-
กระดูกสันหลังเสื่อม หรือหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน
-
โรคประจำตัว เช่น โรคข้ออักเสบ มะเร็ง
-
น้ำหนักตัวมากเกินไป
-
ภาวะกระดูกพรุน
-
ภาวะซึมเศร้า – วิตกกังวล

7 วิธีช่วยผู้สูงอายุรับมือกับการปวดหลัง
1.พยายามหลีกเลี่ยงการยกของหนัก
รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่ผู้สูงอายุต้องก้มๆ เงยๆ บ่อยๆ ลูกหลานควรดูแลให้ท่านหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้มีสิ่งมากระตุ้นให้เกิดการปวดหลังขึ้น
2. ออกกำลังกายเบาๆ
โดยอาจเป็นกายบริหารง่ายๆ เหมาะสมกับผู้สูงอายุ เพื่อช่วยให้โครงสร้างของร่างกายผู้สูงอายุสามารถยืดหยุ่นได้มากขึ้น
3.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่
ในเรื่องของอาหารนั้นบุตรหลานควรดูแลเป็นพิเศษ เพราะผู้สูงอายุมีระบบเผาผลาญที่ไม่เหมือนเมื่อก่อน ดังนั้น จึงควรพิถีพิถันในการเลือกอาหารที่ให้ผู้สูงวัยรับประทาน โดยเฉพาะอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดี ที่ช่วยเสริมสร้างมวลกระดูก
4.ประคบร้อน – ประคบเย็น
สำหรับผู้สูงอายุท่านไหนที่มีอาการปวดหลังแบบเฉียบพลัน แนะนำให้ประคบเย็นด้วยน้ำแข็งหรือ Ice pack ที่บริเวณหลังประมาณ 20 นาที ทำให้ลดการไหลเวียนของเลือดบริเวณนั้น จึงช่วยลดอาการปวดได้ แต่สำหรับผู้ที่มีอาการปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรังมานาน แนะนำให้ใช้วิธีการประคบร้อน ด้วยกระเป๋าน้ำร้อนหรือจะเป็นการอาบหรือแช่น้ำร้อน ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้
5. ปรับเปลี่ยนที่นอนไม่ให้นิ่มจนเกินไป
เนื่องจาก ที่นอนที่นิ่มจนเกินไปจะยุบตัวในบริเวณกลางลำตัวของผู้สูงอายุมาก เนื่องจากช่วงกลางลำตัวจะมีน้ำหนักมากกว่าที่อื่นนั้นเอง ส่งผลให้ผู้สูงอายุนอนเป็นแอ่งโดยไม่รู้ตัว ย่อมเกิดแรงกดทับที่ไม่พึงประสงค์กับกระดูกและกล้ามเนื้อ และแน่นอนว่า เมื่อตื่นมา ผู้สูงอายุจะปวดเมื่อยตามตัวและที่สำคัญปวดหลังแน่นอน
6.เลิกสูบบุหรี่
เนื่องจากสารนิโคตินในบุหรี่จะทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยง กล้ามเนื้อกระดูกสันหลัง และหมอนรองกระดูกสันหลังด้านนอกมีปัญหา ไม่สามารถนำพาออกซิเจนและสารอาหารต่างๆ ไปเลี้ยงอวัยวะดังกล่าวได้เต็มที่ เร่งให้เกิดภาวะกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกเสื่อมก่อนเวลาอันควร ส่งผลให้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคปวดหลังเรื้อรังได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
7.ยาแก้ปวด
เช่น ยาพาราเซตามอล รับประทานแก้ปวดได้ทุก 4-6 ชั่วโมง ในกรณีที่รับประทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์
วิธีที่ดีที่สุดเพื่อช่วยยืดอายุการใช้งานให้กับกระดูกสันหลัง คือ การดูแลสุขภาพให้ดี ด้วยการทานอาหารให้ครบหมู่ มีสุขลักษณะในการขับถ่าย การออกกำลังกายเป็นส่วนที่สำคัญ และแม้อาการปวดหลังในผู้สูงวัย จะหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่เราก็สามารถดูแลและป้องกันตัวเอง ไม่ให้กระดูกเสื่อมเร็วเกินไปได้ เพื่อช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยดีขึ้นด้วยนั่นเอง
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
บทความอื่นๆ
ผู้ป่วย อัลไซเมอร์ ไม่ยอมนอน ดูแลอย่างไรดี?
ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว ในผู้สูงอายุ อันตรายหรือไม่ รักษาอย่างไร?
5 ท่า บริหาร หัวใจ ผู้ สูงอายุ ช่วยให้ผู้สูงวัยหัวใจแข็งแรง