“โรคหัวใจ” เป็นหนึ่งในโรคร้ายอันดับต้นๆ ที่มักพบในผู้สูงอายุ และแม้ว่าบุตรหลานในแต่ละครอบครัวจะไม่อยากให้โรคนี้เกิดขึ้นกับผู้สูงวัยในบ้านของตนเองนั้น แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันจะไม่เกิดขึ้นและก็ไม่อาจทราบได้เลยว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อย่างไรก็ดีปัญหาโรคหัวใจนั้นก็มีอีกหลายโรคเล็กๆ ที่แตกแยกย่อยออกไป ซึ่งก็เป็นเรื่องที่บุตรหลานควรสังเกตและคอยเฝ้าระวังให้ดี
“โรคหัวใจ” ในผู้สูงอายุ คืออะไร
โรคร้ายแรงโรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อยและยังเป็นโรคที่เป็นสาเหตุทำให้คนเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆในทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในผู้สูงวัยโดยต้องสังเกตสัญญานเตือนของโรค ซึ่งมักจะมีอาการเหนื่อยง่ายเวลาออกแรง รู้สึกหอบเหนื่อย นอนราบไม่ได้ ต้องหนุนหมอนสูง แน่นหน้าอก ใจสั่น หน้ามืด เป็นลม กรณีสูงวัยมาก ๆ อาการอ่อนเพลีย เวียนหัว เบื่ออาหารที่ไม่มีสาเหตุชัดเจน อาจเป็นอาการจากโรคหัวใจได้เช่นกัน
5 โรคเกี่ยวกับหัวใจที่มักพบในผู้สูงอายุ
1. โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือ อุดตัน
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นโรครื้อรังที่พบบ่อยในผู้สูงอายุและเป็นสาเหตุการตายในประเทศต่างๆทั่วโลกและเป็นอันดับที่สี่ของคนไทย รองจากกลุ่มโรคมะเร็ง อุบัติเหตุและการเป็นพิษ กลุ่มโรคความดันโลหิตสูงและหลอดเลือดสมอง
สาเหตุ: เกิดจากการที่มี “พลาก” (atherosclerotic plaque) เกาะผนังหลอดเลือดทำให้ขัดขวางการไหลของเลือด โดยเฉพาะเมื่ออุดตันหลอดเลือดโคโรนารี่ที่ไปเลี้ยงหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โดยเมื่อตรวจดูพลากจะพบว่าเต็มไปด้วยไขมันชนิดโคเลสเตอรอล ปะปนกับเซลล์ เศษเซลล์และโปรตีนเส้นใย มีแคลเซียมมาสะสม พลากอาจจะค่อย ๆ สะสมเพิ่มขนาด จนทำให้รูหลอดเลือดแดงตีบแคบลง ทำให้ขัดขวางการไหลของเลือด
อาการ: เจ็บ แน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย อาจเกิดอาการมากขึ้นขณะทำงานหรือออกกำลังกาย หรือมีภาวะเครียดหรือตื่นเต้น (ถ้าตีบน้อยกว่าร้อยละ 50 จะหายไปขณะพัก) เมื่อมีการตายของกล้ามเนื้อหัวใจส่วนนั้นเกิดขึ้นหรือเกิดการเต้นของหัวใจผิดจังหวะอย่างรุนแรง นำไปสู่การเสียชีวิตโดยกะทันหัน
2. โรคลิ้นหัวใจเอเออร์ติกตีบ (Aortic valve stenosis)
ลิ้นหัวใจเอออร์ติกเป็นลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องล่างซ้ายกับหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตา (aorta) มีหน้าที่ในการป้องกันการย้อนกลับของเส้นเลือดเข้ามายังหัวใจ หากจะทำการเปรียบเทียบ ลิ้นหัวใจเอออร์ติกก็เหมือนกับวาล์วน้ำที่อยู่ระหว่างปั๊มน้ำกับท่อเมนที่ส่งน้ำกระจายออกไปยังจุดต่างๆ เมื่อวาล์วเกิดปัญหาไม่เปิดหรือเปิดได้เพียงเล็กน้อย ก็ทำให้น้ำไหลออกไม่สะดวกและเกิดคั่งค้างอยู่ภายใน เช่นเดียวกัน เมื่อลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ เลือดก็สูบฉีดออกไม่ได้ เกิดการคั่งในหัวใจ ส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตเฉียบพลันตามมาได้
สาเหตุ: เกิดจากการผู้ป่วยมีอายุที่มากขึ้น ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะเป็นกลุ่มโรคที่เกี่ยวกับหัวใจที่พบมากในวัยผู้สูงอายุ ทั้งนี้ยังพบโรคนี้ในผู้ป่วยหัวใจรูมาติกซึ่งเป็นความผิดปกติที่มีมาตั้งแต่กำเนิด เช่น มีลิ้นหัวใจ 2 ฝา ซึ่งโดยปกติคนเราจะมี 3 ฝา
อาการ: ผู้สูงอายุจะเกิดอาการเหนื่อยง่ายในการทำกิจกรรมต่างๆ แม้จะเป็นกิจกรรมประจำวัน ในบางรายอาจเป็นลมหมดสติ อีกทั้งยังอาจมีอาการแน่นหน้าอกคล้ายๆ น้ำท่วมปอดและส่งผลให้ผู้สูงวัยไม่สามารถนอนราบได้ปกติ

3. หัวใจสั่นพริ้ว (Atrial Fibrillation)
เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของหัวใจห้องบนเต้นพริ้ว ไม่ผลักดันเลือดลงมาห้องล่างตามปกติ และมักจะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจห้องล่างเร็วผิดปกติและส่งผลให้หัวใจห้องบนและล่างทำงานไม่สัมพันธ์กัน
สาเหตุ: สาเหตุและกลไกการเกิดโรคยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดแต่มีผลวิจัยออกมาว่า โรคนี้สามารถพบได้ในผู้สูงอายุเฉลี่ยไม่เกิน 75 ปี แต่ก็ยังพอสามารถอนุมานอาการที่สามารถสังเกตได้ เช่น เป็นผลจากกลุ่มโรคต่างๆ ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคเบาหวาน ฯลฯ
อาการ: ผู้ป่วยอาจจะมีหรือไม่มีอาการแสดง ผู้ป่วยบางคนได้รับการวินิจฉัยขณะที่ตรวจร่างกายแล้วพบว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยบังเอิญ ผู้ป่วยที่มีอาการแสดงมักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการใจสั่น อ่อนเพลีย อ่อนแรง ความสามารถในการออกกำลังกายลดลง เวียนศรีษะ สับสน หายใจลำบาก เจ็บแน่นหน้าอก
4. ภาวะหัวใจเต้นช้า
เป็นภาวะที่หัวใจเต้นช้ากว่า 60 ครั้งต่อนาที ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนครั้งที่ต่ำกว่าปกติเนื่องจากในวัยผู้ใหญ่นั้นจะมีการเต้นหัวใจทั่วไป 60-100 ครั้งต่อนาที โดยที่ผู้ประสบปัญหาการเต้นหัวใจต่ำกว่า 60 ครั้งต่อนาทีถือว่าเป็นผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นช้าและส่งผลต่อสุขภาพของผู้ป่วยท่านนั้นๆ โดยเฉพาะระบบไหลเวียนโลหิตที่อาจส่งไปหล่อเลี้ยงส่วนอื่ๆ ตามร่างกายได้ไม่เพียงพอ
สาเหตุ: ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีปัจจัยจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มชา กาแฟ ความเครียด ที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ อาทิ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ หรือแม้แต่ความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด ลิ้นหัวใจรั่ว ผนังหัวใจหนาผิดปกติ รวมทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ส่วนมากผู้ป่วยไม่ทราบว่าตนเองมีปัญหา
อาการ: เนื่องจากผู้ประสบภาวะหัวใจเต้นช้ามักจะมีปัญหาเกี่ยวกับการสูบฉีดเลือดจากหัวใจมาเลี้ยงส่วนต่างๆ ตามร่างกายไม่เพียงพอ จึงส่งผลให้ผู้ป่วยสูงอายุเกิดอาการต่างๆ เช่น วิงเวียนศีรษะ รู้สึกสับสนมึนงง หายใจไม่สุด เจ็บหน้าอก เป็นต้น
5. หัวใจล้มเหลว
เป็นกลุ่มอาการที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของการทำงานของหัวใจ โดยอาจเกิดจากมีความผิดปกติของโครงสร้างหรือการทำหน้าที่ของหัวใจ ส่งผลให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายหรือรับเลือดกลับเข้าสู่หัวใจได้ตามปกติ โดยหัวใจล้มเหลวนั้นแบ่งออกได้ 2 ชนิด คือ หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน และ เรื้อรัง ซึ่งก็มีความอันตรายทั้ง 2 แบบ
สาเหตุ: แท้จริงแล้วสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว คือ การมีโรคหัวใจขาดเลือด โรคของกล้ามเนื้อหัวใจ และโรคลิ้นหัวใจต่างๆ เช่น โรคลิ้นหัวใจรั่ว โรคลิ้นหัวใจตีบ หรือ โรคความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้เกิดหัวใจล้มเหลว ได้แก่ การติดเชื้อโรคต่างๆ เกิดภาวะโลหิตจาง เกิดไทรอยด์เป็นพิษ ความดันโลหิตสูงฉับพลัน (เช่น พบในผู้ที่หยุดกินยารักษาความดันโลหิตสูงกะทันหัน) การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเพิ่มขึ้นจากเดิมฉับพลัน หรือ การเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดในปอด (ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ) เป็นต้น
อาการ: ภาวะหัวใจล้มเหลวจะทำให้ผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุแสดงอาการที่มาจากการที่เลือดไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ตามร่างกายไม่เพียงพอ โดยจะมีอาการที่หลากหลาย เช่น อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ หายใจเหนื่อย และ อาการบวมจากการคั่งน้ำและเกลือ
อย่างไรก็ดี ทั้ง 5 โรคนี้เป็นโรคที่ควรเฝ้าระวังเป็นอย่างยิ่ง ลูกหลานในครอบครัวควรเฝ้าสังเกตและประเมินอาการของผู้สูงอายุที่บ้านว่ามีอาการดังที่กล่าวมา ควรพาท่านไปพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญให้เร็วที่สุดเพื่อความเท่าทันและความปลอดภัย
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
“สายตายาว” ปัญหาสายตาของวัยชราที่เลี่ยงไม่ได้
8 โรคผู้สูงอายุที่ควรระวัง มีอะไรบ้าง?
5 นวัตกรรมของใช้ผู้สูงอายุสุดล้ำ-เพื่อผู้สูงวัยยุค 2022
บทความอื่นๆ
ผู้ป่วย อัลไซเมอร์ ไม่ยอมนอน ดูแลอย่างไรดี?
ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว ในผู้สูงอายุ อันตรายหรือไม่ รักษาอย่างไร?
5 ท่า บริหาร หัวใจ ผู้ สูงอายุ ช่วยให้ผู้สูงวัยหัวใจแข็งแรง