“หยุดหายใจ ตอนหลับ” เหตุการณ์ที่น่ากลัวสำหรับเราทุกคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อาจเกิดภาวะนี้เมื่อไหร่ก็ได้ โดยการเกิดภาวะนี้ในผู้สูงอายุถือเป็นความผิดปกติอย่างหนึ่งของการหายใจที่เกิดขึ้นระหว่างนอนหลับ เป็นอันตรายและอาจทำให้เกิดความผิดปกติอื่นตามมาจนถึงเสียชีวิตได้ ดังนั้น บุตรหลานไม่ควรนิ่งนอนใจและหาทางแก้ไขก่อนเกิดเหตุการณ์ร้ายๆ ขึ้น
“หยุดหายใจ ตอนหลับ” ในผู้สูงอายุเกิดจากอะไร แก้ไขอย่างไรดี?
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea : OSA) เป็นภาวะอันตรายสังเกตได้จากการนอนกรนเกิดจากระบบทางเดินหายใจส่วนต้นที่แคบลง หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาจะเสี่ยงโรคทางหัวใจ และโรคอื่น ๆ ซึ่งอันตรายถึงชีวิต สามารถวินิจฉัยได้ผ่านการทำ Sleep Test เพื่อวัดความรุนแรงของอาการเป็นข้อมูลสำหรับทำการรักษาต่อไป
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เกิดจาก…
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น เกิดจากการปิดกั้นของทางเดินหายใจขณะหลับ ทำให้อากาศไม่สามารถผ่าน หรือผ่านได้น้อย ส่งผลให้เกิดภาวะออกซิเจนในเลือดลดลง มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดสูง ความดันโลหิตสูงขึ้น ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานมากขึ้น และเพื่อที่จะลดภาวะการหยุดหายใจระหว่างนอนหลับ สมองจะเกิดการตื่นขึ้น บางครั้งสั้นมากเป็นวินาที ซึ่งผู้ป่วยมักจะไม่รู้ตัวว่าตื่น เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นหลายครั้งในหนึ่งคืน ในรายที่มีอาการมากอาจเกิดขึ้นมากกว่าร้อยครั้งใน 1 ชั่วโมง
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับมีกี่ประเภท
-
ประเภทการอุดกั้นทางเดินหายใจ (Obstructive Sleep Apnea)
: เป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่พบได้บ่อยที่สุด จากระบบทางเดินหายใจที่แคบลง
-
ประเภทความผิดปกติจากสมองส่วนกลาง (Central sleep apnea)
: เกิดจากสมองส่วนกลางไม่สามารถสั่งการกล้ามเนื้อขณะนอนหลับได้ เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง หรือยาที่มีผลต่อระบบสมองส่วนกลาง อาการประเภทนี้พบได้น้อยที่สุดในภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
-
ประเภทแบบผสม (Mixed Sleep Apnea)
: เป็นการหยุดหายใจที่เกิดขึ้นจากสาเหตุของสมองส่วนกลาง และการอุดกั้นของระบบทางเดินหายใจร่วมกัน
ลักษณะอาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ภาวะความผิดปกติของระบบหายใจนี้ ส่งผลให้คุณภาพการนอนไม่ดี ตื่นมาไม่สดชื่น รู้สึกอ่อนเพลีย การจดจำไม่ดี เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน และในที่ทำงานซึ่งพบได้บ่อยด้วยเช่นเดียวกัน อีกทั้งยังเป็นภาวะที่มีการปิดกั้นของทางเดินหายใจส่วนต้น ทำให้ลมหายใจลดลง หรือขาดหายเป็นระยะ มีผลทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดลดลง และกระตุ้นสมองให้ตื่นตัวไม่สามารถนอนหลับต่อเนื่องได้ตามปกติ
ความรุนแรง ของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
-
AHI น้อยกว่า 5 ต่อชั่วโมง คือ ปกติ
-
AHI มากกว่า หรือเท่ากับ 5 แต่น้อยกว่า 15 ต่อชั่วโมง คือรุนแรงน้อย
-
AHI มากกว่า หรือเท่ากับ 15 แต่น้อยกว่า 30 ต่อชั่วโมง คือรุนแรงปานกลาง
-
AHI มากกกว่า หรือเท่ากับ 30 ต่อชั่วโมง คือรุนแรงมาก
โรคแทรกซ้อนอื่นๆ ที่สามารเกิดขึ้น…
จากการศึกษาพบว่าภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน การดื้อต่ออินซูลิน ภาวะอ้วนลงพุง นอกจากนี้ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นยังพบได้บ่อยในผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง และหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งเป็นไปได้ว่าภาวะหยุดหายใจระหว่างการนอนหลับอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคเหล่านี้
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นภาวะนี้?
สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัยแต่ส่วนมากจะพบในเพศชายอายุประมาณ 30 ปี และจะยิ่งมีโอกาสเสี่ยงมากขึ้นตามอายุ โดยจะมีความเสี่ยงร่วมกันในทุกเพศทุกวัย ดังนี้
- ลักษณะโครงสร้างของใบหน้า ผู้ที่มีช่องคอช่องจมูกแคบ มีคางสั้น กะโหลกศีรษะผิดรูป เป็นต้น ส่งผลให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- ผลกระทบจากโรค โรคอ้วน โรคด้านหัวใจ โรคภูมิแพ้ โรคเบาหวาน
- เกิดจากการทานยา ยาบางชนิดสามารถส่งผลให้เกิดการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อในระบบหายใจได้
- พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน การดื่มแอลกอฮอล์รวมไปถึงการสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้เช่นกัน
สำหรับเพศหญิงจะมีความเสี่ยงมากขึ้นในวัยหมดประจำเดือน และในเด็กมักพบจากสาเหตุของอาการต่อมทอนซิล และอดีนอยด์โต หรืออักเสบเรื้อรัง
วิธีการดูแลและป้องกันภาวะนี้ในผู้สูงอายุ
การปรับพฤติกรรม
ทำได้ด้วยการดูแลให้น้ำหนักอยู่ในระดับมาตรฐาน พยายามอย่านอนหงายนอนให้ระดับศีรษะอยู่สูงกว่าลำตัว นอนพักผ่อนให้เพียงพอ พยายามเลี่ยงยาที่ส่งผลให้เกิดอาการง่วงนอน เพราะจะมีผลต่อสมองส่วนกลาง งดการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่
รักษาจากโรคต้นเหตุ
หากพบว่ามีโรคร้ายที่เป็นเหตุของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เช่น ต่อมทอนซิลอักเสบ เยื่อบุจมูกอักเสบ โรคที่เกี่ยวกับระบบกล้ามเนื้อหรือระบบประสาท เป็นต้น
รักษาด้วยเครื่องมือ
ผ่านเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (Continuous Positive Airway Pressure) หรือ CPAP เพื่อค้ำการหย่อนของกล้ามเนื้อบริเวณช่องคอจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือใส่เครื่อง Oral Appliance ในช่องปากเพื่อปรับขากรรไกรช่วยให้ทางเดินหายใจมีพื้นที่มากขึ้น
รักษาผ่านการผ่าตัด
การรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจะทำได้ก็ต่อเมื่อผ่านการวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว โดยจุดประสงค์ของการผ่าตัดคือทำให้ระบบทางเดินหายใจมีพื้นที่กว้างขึ้น หรือลดการหย่อนลง เช่น การผ่าตัดจมูก การผ่าตัดตกแต่งเพดานอ่อน หรือการผ่าบริเวณคอหอย เป็นต้น
ท้ายที่สุด ข้อมูลที่เกี่ยวกับภาวะนี้ดังที่กล่าวมา เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น หากบุตรหลานสังเกตได้ว่าผู้สูงอายุในครอบครัวหยุดหายใจ ตอนหลับ หรือมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ก็ควรรีบพาท่านไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายให้แน่ชัดและรักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากภาวะนี้ส่งผลโดยตรงต่อการใช้ชีวิตประจำวันของท่าน ดังนั้น บุตรหลานจึงไม่ควรปล่อยละเลยให้อาการหนักจนเป็นเหตุถึงชีวิต
บทความอื่นๆ
ผู้ป่วย อัลไซเมอร์ ไม่ยอมนอน ดูแลอย่างไรดี?
ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว ในผู้สูงอายุ อันตรายหรือไม่ รักษาอย่างไร?
5 ท่า บริหาร หัวใจ ผู้ สูงอายุ ช่วยให้ผู้สูงวัยหัวใจแข็งแรง