“กระตุ้นสมอง” ขั้นตอนสำคัญหลังทำการรักษาทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคสมองให้กับผู้สูงอายุ จริงอยู่ที่ขั้นตอนการรักษาทางการแพทย์เป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากการเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนใดๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลานี้ แต่ช่วงการพักฟื้นของผู้สูงอายุหลังจากนั้นก็เป็นขั้นตอนที่สำคัญอีกเช่นเดียวกัน เพราะผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยโรคทางสมองจะกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติได้มากน้อยแค่ไหนนั้นก็จะขึ้นอยู่กับขั้นตอนนี้ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราต้องมีการรักษาและกิจกรรมที่กระตุ้นสมองไว้เพื่อฟื้นฟูผู้สูงวัยนั่นเอง
“กระตุ้นสมอง” คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร และมีวิธีใดบ้าง?
โรคทางสมอง เป็นโรคที่สามารถพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ซึ่งอันดับต้นๆ จะเป็นอาการของภาวะสูญเสียความทรงจำ หรือที่เราเรียกกันว่าสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ ภาวะหลอดเลือดในสมองตีบและตัน เป็นต้น อย่างไรก็ดีการป้องกันโรคเหล่านี้ไว้ก่อนย่อมดีที่สุด และถึงแม้จะป้องกันไม่ได้ก็สามารถฟื้นฟูผู้ป่วยสูงอายุทางโรคสมองต่างๆ ได้ ด้วยวิธีกระตุ้นสมองในแบบต่างๆ ที่จะทำให้ผู้สูงอายุกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติมากขึ้น
โรคทางสมองที่มักพบเจอบ่อยในผู้สูงอายุ
-
โรคสมองเสื่อม
เป็นภาวะที่ความสามารถทางสติปัญญาลดลง คิดและจำไม่ได้ เป็นโรคที่มักพบในผู้สูงอายุทำให้ผู้ที่เป็นมีอาการหลงลืม การใช้ภาษาผิดปกติ และพฤติกรรมรวมถึงอารมณ์เปลี่ยนไปซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุทั้งที่แก้ไขได้และแก้ไขไม่ได้
-
โรคหลอดเลือดสมอง
ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มหลอดเลือดสมองตีบและกลุ่มหลอดเลือดสมองแตก นั่นเอง และหากผู้ป่วยหลอดเลือดสมองทั้งสองกลุ่มผ่านพ้นช่วงวิกฤติแล้ว สมองจะสามารถฟื้นตัวได้เร็วและทำให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถ้าผู้ป่วยได้รับการดูแลและการฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และเหมาะสม
-
โรคอัลไซเมอร์
เกิดจากความเสื่อมถอยของการทำงานหรือโครงสร้างของเนื้อเยื่อของสมองซึ่งมักพบในผู้สูงอายุแต่ไม่ใช่ความเสื่อมโดยธรรมชาติเพราะผู้สูงอายุทุกคนไม่จำเป็นต้องเป็นโรคนี้กันทุกคน แต่เป็นความเสื่อมที่เกิดจากโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เบต้า-อะไมลอยด์ (ชนิดไม่ละลายน้ำ) ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองค่อยๆ ลดลง เริ่มจากสมองส่วนฮิปโปแคมปัสที่มีบทบาทสำคัญในการจดจำข้อมูลใหม่ๆ เมื่อเซลล์สมองส่วนนี้ถูกทำลาย ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาเรื่องความจำโดยเฉพาะความจำระยะสั้น
-
อัมพฤกษ์ อัมพาต
อัมพฤกษ์ อัมพาตเป็นโรคที่น่ากลัวในกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะวัยนี้เป็นวัยที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคทางสมองมากกว่าวัยอื่น หากเป็นแล้วจะทำให้เกิดอาการแขนขาอ่อนแรง ขยับตัวไม่ได้ เสี่ยงต่อการเป็นผู้ป่วยติดเตียง และยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในอันดับต้นๆ ได้อีกด้วย
5 วิธี “กระตุ้นและฟื้นฟูสมอง” ช่วยผู้สูงวัยห่างไกลโรคร้าย
1. กระตุ้นด้วยการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง
การออกกำลังกายแบบแอโรบิค ช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้ เช่น การวิ่ง ว่ายน้ำ เดินเร็ว ปั่นจักรยาน หรือเต้นแอโรบิค วันละ 30 นาที อย่างน้อยอาทิตย์ละ 2 วัน
2. กระตุ้นด้วยการรักษาสุขภาพอยู่เสมอ
- ควรเลือกรับประทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช ปลา
- ควรมีกิจกรรมทางกาย เช่น เดินแทนการนั่งรถ ทำงานบ้าน ทำงานอดิเรกที่ชอบ
- ควรมีกิจกรรมทางสังคม เช่นออกไปพบปะเพื่อนฝูง พูดคุยกับเพื่อนบ้าน
- ควรตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
- ไม่ควรสูบบุหรี่ และดื่มสุรา
- ไม่ควรทำกิจกรรมที่เสี่ยงกับการบาดเจ็บทางศีรษะ
- ไม่ควรปล่อยให้มีน้ำหนักตัวมากจนอ้วน
3. กระตุ้นด้วยการบริหารสมองด้วยการทำกายบริหารง่ายๆ
โดยใช้ท่าบริหารดังนี้
- ท่าโป้งก้อย มือขวาชูนิ้วโป้ง มือซ้ายชูนิ้วก้อย เมื่อทำได้ ให้สลับเปลี่ยนเป็นมือขวาชูนิ้วก้อย มือซ้ายชูนิ้วโป้ง
- ท่าจีบแอล มือขวาทำมือรูปจีบ มือซ้ายทำมือเป็นรูปแอล เมื่อทำได้ให้สลับมือเปลี่ยนเป็น มือขวาทำมือรูปตัวแอล มือซ้ายทำเป็นรูปจีบ
- ท่าจับจมูกจับหู มือขวาจับปลายจมูก มือซ้ายจับหูขวา เมื่อทำได้ ให้สลับเปลี่ยนเป็นมือขวาจับหูซ้าย มือซ้ายจับปลายจมูก
4. กระตุ้นด้วยการบำบัดทางการรับรูผ่านกิจกรรมต่างๆ
- กิจกรรมบำบัดด้วยการรับรู้ตามความเป็นจริง โดยกิจกรรมนี้ เป็นกิจกรรมบำบัดที่ช่วยส่งเสริมการรับรู้ ความเป็นจริง เช่น วัน เวลา สถานที่ บุคคล พฤติกรรมการแสดงออกของตนเอง และสิ่งแวดล้อมรอบตัว โดยมุ่งเน้นให้ผู้สูงอายุได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ
- กิจกรรมบำบัดด้วยการกระตุ้นการรู้คิด โดยเป็นการส่งเสริมให้ใช้กระบวนการประมวลผลข้อมูลมากกว่าความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริง เช่น กิจกรรมเกี่ยวกับ “ใบหน้า” จะมีคำถามให้ตอบว่า “ใครดูอ่อนที่สุด”ซึ่งอาจใช้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงเป็นส่วนเสริมได้ด้วย
- กิจกรรมบำบัดทักษะทางด้านการจัดการ กระตุ้นการคิด ตัดสินใจด้วยกิจกรรมจัดของในบ้าน คำนวนค่าใช้จ่ายในการซื้อของใช้ต่างๆ โดยกิจกรรมเช่นนี้จะส่งผลให้ผู้สูงวัยสามารถตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้ด้วยตนเอง
5. กระตุ้นด้วยการใช้เครื่องมือทางการแพทย์
เช่น เครื่องกระตุ้นแม่เหล็กไฟฟ้า (Transcranial Magnetic Stimulation: TMS) เป็นเครื่องมือที่ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Field) ไปกระตุ้นการทำงานของ เซลล์สมอง เซลล์ประสาท บริเวณที่ถูกกระตุ้นจะหลั่งสารสื่อประสาทที่ใช้ในการซ่อมแซมเซลล์ประสาทส่วนที่มีปัญหา เครื่องกระตุ้นแม่เหล็กไฟฟ้าจึงถูกนำมาใช้ในการรักษาและฟื้นฟูการเจ็บป่วยของโรคทางสมองและระบบประสาท อีกทั้งยังมีประโยชน์ในระยะยาว เช่น ไม่มีรังสีตกค้างในร่างกาย, สามารถเคลื่อนที่ผ่านกระโหลกศีรษะได้ จึงสามารถกระตุ้นเซลล์สมองได้ดีกว่าชนิดอื่นๆ และสามารถควบคุมความกว้างและความลึก ชองบริเวณที่ถูกกระตุ้นได้ตามความต้องการของแพทย์ที่ทำการรักษา เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยแต่ละบุคคล
อย่างไรก็ดี 5 กิจกรรมกระตุ้นระบบสมองให้ผู้สูงอายุที่กล่าวมาเป็นเพียงกิจกรรมที่บำบัดผู้สูงอายุทางกายเท่านั้น สิ่งสำคัญคือบุตรหลานในครอบครัวต้องคอยดูแลผู้สูงอายุทางด้านจิตใจร่วมด้วย ทั้งนี้อาจร่วมกับการเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการประเมินผลการรักษาอย่างใกล้ชิด และคำแนะนำในการดูแลอย่างถูกต้องควบคู่กันไปเพื่อให้ได้ผลการรักษาดีไปตามที่คาดไว้นั่นเอง
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
บทความอื่นๆ
ผู้ป่วย อัลไซเมอร์ ไม่ยอมนอน ดูแลอย่างไรดี?
ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว ในผู้สูงอายุ อันตรายหรือไม่ รักษาอย่างไร?
5 ท่า บริหาร หัวใจ ผู้ สูงอายุ ช่วยให้ผู้สูงวัยหัวใจแข็งแรง