กายภาพบําบัด ผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง – หลายๆ คนคงเคยได้ยินหรือรู้จักกันมาบ้างแล้วกับการบำบัดและฟื้นฟูผู้ป่วยหลอดเลือดด้วยวิธีนี้ เพราะโรคหลอดเลือดสมองที่ส่งผลทำให้คุณภาพการใช้ชีวิตประจำวันลดลง การทำกิจกรรมต่างๆ ยากมากขึ้นเนื่องจากมีการอ่อนแรงของร่างกายครึ่งซีก ซึ่งการรักษาทางกายภาพบำบัดในผู้ป่วยสูงอายุในโรคหลอดเลือดสมองจะช่วยฟื้นฟูให้ผู้ป่วยให้กลับมาใช้ชีวิตประจำวัน ทำกิจกรรมต่างๆได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด บุตรหลานจึงควรศึกษาวิธีการทำกายภาพไว้ เพราะเป็นแนวทางง่ายๆ ที่สามารถทำได้เองที่บ้าน
“โรคหลอดเลือดสมอง” ภัยร้ายในผู้สูงอายุที่ไม่ควรมองข้าม
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรือเรียกว่า อัมพฤกษ์ เกิดจากสมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย
ประเภทของโรคหลอดที่มักพบเจอในผู้สูงอายุ
โรคหลอดเลือดสมองแบ่งออกได้เป็นชนิดต่างๆ ดังนี้ คือ
โรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือด (Ischemic Stroke)
พบได้กว่า 80 % ของโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดจนทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
โรคหลอดเลือดสมองชนิดเลือดออกในสมอง (Hemorrhagic Stroke)
เกิดจากภาวะหลอดเลือดสมองแตก หรือฉีกขาด ทำให้เลือดรั่วไหลเข้าไปในเนื้อเยื่อสมอง พบได้ประมาณ 20 %
ทำไมต้องทำกายภาพให้กับผู้สูงอายุในผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง?
สำหรับระยะเวลาที่เหมาะสมในการทำกายภาพบำบัดคือ หลังจากที่อาการผู้ป่วยคงที่ แพทย์เห็นสมควรให้เริ่มกายภาพบำบัดได้ ซึ่งในช่วง 3-6 เดือนแรกหลังจากเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นช่วงที่ผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้เร็วที่สุด นับว่าเป็น “ ช่วงเวลาที่ดีของการฟื้นตัว” อันเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของตัวสมองในส่วนที่เสียหายเองร่วมกับการเรียนรู้การเคลื่อนไหว หลังจากนั้นการฟื้นฟูจะช้าลง เมื่อสิ้นสุดช่วงที่สมองฟื้นตัวขึ้นมาเอง ก็จะเข้าสู่ระยะที่มีการปรับตัวเองของเซลล์สมองส่วนที่ยังเหลืออยู่ ซึ่งพบว่าหากมีการฝึกพัฒนาการเคลื่อนไหวให้ถูกวิธี สมองสามารถพัฒนาไปได้อีกถึง 7 ปีจึงเริ่มช้าลง แต่ในทางกลับกัน หากผู้ป่วยได้รับการฝึกทักษะการเคลื่อนไหวที่ไม่ถูกต้อง การฟื้นตัวเองหลังจากนั้นจะช้าลง ไม่ใช่เพราะผลจากสมอง แต่เป็นสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างร่างกายและความเคยชินที่ทำให้ไม่สามารถพัฒนาการเคลื่อนไหวให้ดีขึ้น การแก้ปัญหาการเคลื่อนไหวก็จะกลายเป็นเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลา
ดังนั้น ความสำเร็จของการทำกายภาพบำบัดในช่วงแรกขึ้นอยู่กับความเสียหายจากการบาดเจ็บ จิตใจของผู้ป่วย การให้ความร่วมมือ ความเข้าใจของผู้ดูแล และการได้รับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ ปัจจัยต่างๆ ส่งผลให้การฟื้นตัวในแต่ละคนไม่เท่ากัน กับคำถามที่ว่า กายภาพบำบัดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทำไปทำไม ทำแล้วผู้ป่วยจะดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง? คำตอบก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยเหล่านี้นั่นเอง
6 ท่า กายภาพบําบัด ผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง ช่วยรักษาและบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพแก่ผู้สูงวัย
นอกจากที่ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาทางการแพทย์แล้ว กายภาพบำบัดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเป็นอีกหนึ่งแนวทางการรักษาที่สำคัญและมีบทบาทอย่างยิ่งที่จะช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและป้องกันภาวะแทรกซ้อนให้กับผู้ป่วย โดยการรักษาทางกายภาพบำบัดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองนั้นจะประกอบไปด้วย
1.การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
: ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองส่วนใหญ่หลังจากผ่านช่วงแรกของการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง มักจะมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อตามมา โดยการเกร็งของกล้ามเนื้อนี้จะมีผลให้กล้ามเนื้อของผู้ป่วยหดรั้ง สูญเสียความยืดหยุ่น นักกายภาพบำบัดจึงจำเป็นจะต้องให้การรักษาด้วยการยืดกล้ามเนื้อ เพื่อลดอาการเกร็งและเพื่อความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อสำหรับเตรียมความพร้อมในการออกกำลังกายในลำดับต่อไป
2.การดัดและขยับข้อต่อเพื่อเพิ่มองศาการเคลื่อนไหว
: ในกรณีที่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองไม่ได้มีการขยับร่างกายเป็นเวลานานหรือไม่ได้ลุกยืน เดินลงน้ำหนัก จะมีผลทำให้ข้อต่อของผู้ป่วยยึดติดไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เต็มช่วงองศาการเคลื่อนไหว ผู้ป่วยจึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการขยับข้อต่ออย่างถูกต้องและเหมาะสมโดยนักกายภาพบำบัดเพื่อให้ข้อต่อสามารถเคลื่อนไหวในองศาการเคลื่อนไหวที่ใกล้เคียงปกติมากที่สุด ทั้งนี้ทั้งนั้นการขยับข้อต่อยังสามารถลดความเจ็บปวดจากการตึงรั้งของเนื้อเยื่อรอบๆข้อได้อีกด้วย
3.การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อ
: อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองนั้นจะมีภาวะอ่อนแรงของกล้ามเนื้อครึ่งซีกร่างกาย ผู้ป่วยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการกระตุ้นกล้ามเนื้อให้ทำงานอย่างถูกต้อง และแนะนำท่าทางการออกกำลังการที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตหรือช่วยเหลือตัวเองได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด
4.การฝึกการทรงตัว
: ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีความเสี่ยงที่จะล้มง่ายเนื่องจากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจะมีการอ่อนแรงของกลุ่มกล้ามเนื้อที่ใช้ในการทรงตัว และในบางรายมีการสูญเสียการรับความรู้สึกในส่วนของการเคลื่อนไหวของข้อต่อไป ทำให้ประสิทธิภาพในการทรงตัวหรือการรักษาความมั่นคงให้กับร่างกายน้อยลง การฝึกการทรงตัวในท่านั่ง ท่ายืน หรือท่าเดิน จึงเป็นส่วนช่วยสำคัญในการสร้างความมั่นคงให้กับผู้ป่วยและลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสี่ยงจากการล้มได้
5.การฝึกการใช้มือและกิจวัตรประจำวัน
: เมื่อผู้ป่วยมีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมากขึ้น การฝึกการใช้มือในการหยิบจับสิ่งของ เช่น การหยิบแก้วน้ำ การรับประทานอาหาร การเปลี่ยนเสื้อผ้า ติดกระดุมหรือการช่วยเหลือตัวเองในการลุกนั่ง เปลี่ยนท่าทางได้อย่างถูกต้อง จะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยทำกิจวัตรต่างๆได้ด้วยตัวเอง
6.การฝึกพูดและกลืน
: ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจะมีปัญหาในการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อลิ้น กล้ามเนื้อเคี้ยว และกล้ามเนื้อใบหน้า มักจะพบว่าบางครั้งผู้ป่วยจะมีน้ำลายไหลบริเวณมุมปาก สำลัก หรือพูดไม่ชัด ไม่เป็นคำ ดังนั้นการกระตุ้นด้วยการฝึกพูด ฝึกกลืน จะมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยพัฒนาความสามารถในการพูดและกลืนได้ดีขึ้นและป้องกันในส่วนของโรคแทรกซ้อนจากการสำลักอาหารได้อีกด้วย
อย่างไรก็ดี การมีส่วนร่วมของครอบครัวในการทำ กายภาพบําบัด ผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง นั้นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งระหว่างการฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยครอบครัวหรือผู้ดูแลจะต้องมีความรู้ความเข้าใจและทักษะที่ถูกต้องในการดูแลผู้สูงอายุเพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บ มีความอดทน เข้าใจในสภาวะร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย และให้กำลังใจเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปให้ได้
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
บทความอื่นๆ
ผู้ป่วย อัลไซเมอร์ ไม่ยอมนอน ดูแลอย่างไรดี?
ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว ในผู้สูงอายุ อันตรายหรือไม่ รักษาอย่างไร?
5 ท่า บริหาร หัวใจ ผู้ สูงอายุ ช่วยให้ผู้สูงวัยหัวใจแข็งแรง