“ฟื้นฟูสมอง” สำหรับผู้ป่วยสูงอายุในกลุ่มโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือตัน ถือเป็นวิธีสำคัญที่จะทำให้ผู้สูงอายุกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโรคหลอดเลือดเช่นนี้มีสถิติที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุมากเป็นอันดับต้นๆ เลยก็ว่าได้ และเป็นสาเหตุหนึ่งที่พบบ่อยของความพิการ ทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวัน เคลื่อนไหวและเดินได้ตามปกติ ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุอีกด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการฟื้นฟูระบบสมองของผู้สูงวัยหลังจากป่วยโรคนี้ให้ดีขึ้นนั่นเอง
“ฟื้นฟูสมอง” คืออะไร ทำไมจึงสำคัญต่อผูป่วยโรคหลอดเลือดสมอง?
โรคหลอดเลือดสมองถือเป็นโรคร้ายในลำดับต้นๆ ที่คร่าชีวิตคนไทยและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจนถึงปัจจุบัน นับเป็นโรคที่คนทุกวัยควรระวัง ทั้งผู้สูงอายุ คนวัยทำงาน หรือวัยรุ่น ก็อาจมีความเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ด้วยสาเหตุที่ต่างกัน โดยเฉพาะช่วงอายุ 18 – 50 ปีจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น การสังเกตอาการและรู้ทันเพื่อรับมือให้ถูกวิธีจึงเป็นเรื่องสำคัญ
โรคหลอดเลือดสมองในผู้สูงอายุ
โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มหลอดเลือดสมองตีบ และ กลุ่มหลอดเลือดสมองแตก ซึ่งเป็นภาวะที่สมองขาดเลือดและออกซิเจน เนื่องจากหลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือแตก เลือดจึงไม่สามารถไหลเวียนไปยังสมองได้ เมื่อเซลล์สมองถูกทำลายจนเซลล์ตาย จึงไม่สามารถควบคุมอวัยวะและระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายให้ทำงานได้ตามปกติ
สาเหตุของการเกิดโรคเส้นเลือดสมองในผู้สูงอายุ
โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่พบมากขึ้นในคนสูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยจนถึงประเทศที่มีรายได้ปานกลางยิ่งมีอายุมากขึ้นก็จะยิ่งมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้น ในต่างประเทศเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า domino effect ซึ่งสาเหตุที่สำคัญที่สุดของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในผู้สูงอายุ คือ เกิดจากภาวะหลอดเลือดแดงตีบแข็งทั่วร่างกาย (atherosclerosis)
สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังมากที่สุด คือ ผู้สูงอายุที่เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองแล้วจะมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองกลับเป็นซ้ำได้เร็วและมากกว่าคนวัยอื่น 3 เท่า ส่งผลให้อัตราการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลของผู้สูงอายุด้วยโรคหลอดเลือดสมองกลับเป็นซ้ำมีมากกว่า 2 ครั้งต่อปี ซึ่งผู้สูงอายุเพศหญิงมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองกลับเป็นซ้ำได้มากกว่า 3 ครั้งขึ้นไป ก่อให้เกิดภาวะทุพลภาพ ภาวะพึ่งพา และมีความรุนแรงต่อชีวิตสูงกว่าคนในวัยอื่นๆ
ลักษณะอาการที่พบบ่อย
- อัมพาตอ่อนแรง ขยับแขนขาได้น้อย หรือไม่ได้เลย ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
- ปากเบี้ยว มีน้ำลายไหล พูดไม่ชัด ดูดกลืนน้ำและอาหารลำบาก
- ชาแขนขาข้างที่อัมพาต ไม่มีความรู้สึกเวลาโดนของร้อน หรือของมีคม
- กล้ามเนื้อเกร็งกระตุก ซึ่งอาจพบได้ในระยะต่อมาของการเป็นอัมพาต
- มีปัญหาด้านการกลืน อาจทำให้มีโอกาสเกิดสำลักอาหารเข้าปอด และเป็นโรคปอดอักเสบตามมาได้
อย่างไรก็ดี โรคหลอดเลือดสมองกลับเป็นซ้ำในผู้สูงอายุสามารถป้องกันได้ โดยการดูแลตนเองอย่างง่ายๆ ประกอบกับการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญควบคู่กันไป
วิธีฟื้นฟูระบบสมองสำหรับผู้ป่วยเส้นเลือดสมองในผู้สูงอายุ มีอะไรบ้าง?
ดูแลตนเองง่ายๆ
1. การรับประทานอาหารที่เหมาะสม
ในปัจจุบันพบว่าอาหารที่ช่วยในการป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในผู้สูงอายุได้ คืออาหารเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งประกอบด้วย ผักสดผลไม้สด เนื้อปลา พืชตระกูลถั่ว ซีเรียล ธัญพืช (รวมทั้งขนมปัง พาสต้าและข้าว) ไขมันไม่อิ่มตัว (น้ำมันมะกอก) เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนมปริมาณไขมันและไวน์16-20 เมื่อป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ ก็จะช่วยป้องกันและลดการเกิดโรคหลอดเลือดสมองกลับเป็นซ้ำได้เช่นกัน
2. การออกกำลังกายเป็นประจำ
โดยวิธีนี้ำจะมีความสัมพันธ์ กับความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองลดลง เพราะช่วยลดระดับความดันโลหิต ลดความตึงตัวของเส้นเลือด และลดการออกฤทธิ์ต้านการทำงานของอินซูลินในร่างกาย เพิ่มการไหลเวียนเลือดในร่างกาย การออกกำลังกายเปรียบเสมือนเป็นใบสั่งยาที่โรงพยาบาลให้กับผู้ป่วยเพื่อช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองซึ่งบุตรหลานอาจจะพิจารณาตารางการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุท่านั้นๆ ด้วย
3. การงดดื่มสุราและสูบบุหรี่
คนที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนที่ไม่สูบถึง 2 เท่าเนื่องจากนิโคตินมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของระดับความดันโลหิตในร่างกาย รวมทั้งการสูบบุหรี่มีผลให้ลดระดับออกซิเจนในเลือด ส่งผลให้เลือดจับกันเป็นก้อนมากขึ้น นอกจากนี้บุหรี่มีผลทำให้เกิดการทำลายของผนังเยื่อบุหลอดเลือด31 เกิดการสะสมของคราบไขมันต่างๆ ในผนังหลอดเลือดได้ง่ายขึ้น ก่อให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งเปราะ นำมาซึ่งการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในผู้สูงอายุ ประกอบกับคนสูงอายุเป็นวัยที่มีความเสื่อมของหลอดเลือดแดงเป็นทุนเดิมจากกระบวนการชราภาพ จึงยิ่งส่งผลต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ง่ายขึ้นด้วยนั่นเอง
4. การรับประทานยาต่อเนื่องและมาตรวจตามนัด
การรับประทานยาอย่างต่อเนื่องในที่นี้รวมถึงยาทุกชนิดที่แพทย์สั่งให้รับประทานเพื่อช่วยควบคุมโรคอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวานและไขมันในเลือดสูง ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดและผลกระทบของโรคหลอดเลือดสมองกลับเป็นซ้ำ ซึ่งหากไม่รับประทานยาอย่างต่อเนื่องเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองกลับเป็นซ้ำได้
กายภาพบำบัดเพื่อเพิ่มสมรรถภาพทางร่างกาย
1.การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
หลังจากผ่านช่วงแรกของการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยมักจะมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อตามมา โดยการเกร็งของกล้ามเนื้อนี้ จะส่งผลให้กล้ามเนื้อของผู้ป่วยหดรั้ง สูญเสียความยืดหยุ่นตามปกติไป นักกายภาพบำบัดจึงจำเป็นจะต้องให้การรักษาด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพื่อลดอาการเกร็งและเพื่อความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อ
2.การฝึกการทรงตัว
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีความเสี่ยงที่จะล้มง่าย เนื่องจากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจะมีการอ่อนแรงของกลุ่มกล้ามเนื้อที่ใช้ในการทรงตัว และในบางรายมีการสูญเสียความรู้สึกไป ทำให้ประสิทธิภาพในการทรงตัวหรือการรักษาความมั่นคงให้กับร่างกายน้อยลง การฝึกการทรงตัวในท่านั่ง ท่ายืน หรือท่าเดิน จึงมีส่วนช่วยสร้างความมั่นคงให้กับผู้ป่วยและลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุจากการล้มได้
3.การดัดและขยับข้อต่อเพื่อเพิ่มมุมการเคลื่อนไหว
ในกรณีที่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองไม่ได้ขยับร่างกายเป็นเวลานานหรือไม่ได้ยืนเดินลงน้ำหนัก และไม่ได้รับการฟื้นฟูที่เหมาะสมตามอาการของโรค จะมีผลทำให้ข้อต่อของผู้ป่วยยึดติดไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ ผู้ป่วยจึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการขยับข้อต่ออย่างถูกต้องและเหมาะสม
กิจกรรมกระตุ้นสมอง
1. กิจกรรมบำบัดทักษะทางด้านการจัดการ
กระตุ้นการคิด ตัดสินใจด้วยกิจกรรมจัดของในบ้าน คำนวนค่าใช้จ่ายในการซื้อของใช้ต่างๆ โดยกิจกรรมเช่นนี้จะส่งผลให้ผู้สูงวัยสามารถตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้ด้วยตนเอง
2. กิจกรรมบำบัดด้วยการรับรู้ตามความเป็นจริง
โดยกิจกรรมนี้ เป็นกิจกรรมบำบัดที่ช่วยส่งเสริมการรับรู้ ความเป็นจริง เช่น วัน เวลา สถานที่ บุคคล พฤติกรรมการแสดงออกของตนเอง และสิ่งแวดล้อมรอบตัว โดยมุ่งเน้นให้ผู้สูงอายุได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวใหม่อีกครั้งหนึ่ง
3. กิจกรรมบำบัดด้วยการกระตุ้นการรู้คิด
โดยบุตรหลานอาจจะนำการใช้ reality orientation board มาบำบัดร่วมด้วยเพื่อให้ผู้สูงอายุเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น เช่น ถามคำถามที่ท่านพอจะเดาคำตอบหรือตอบได้ ซึ่งคำถามนั้นอาจเป็นคำถามเกี่ยวกับ “ใบหน้า” จะมีคำถามให้ตอบว่า “ใครดูอ่อนที่สุด”ซึ่งอาจใช้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงเป็นส่วนเสริมได้ด้วย
รักษาทางการแพทย์ โดยใช้ TMS คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
ปัจจุบันมีเครื่องมือที่จะช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โดยการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากระตุ้นที่ปลายประสาท โดยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านี้จะลงลึกไปที่ปลายประสาทประมาน 1-3 เซนติเมตร เพี่อเหนี่ยวนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ โดยสามารถทำได้ทั้งการกระตุ้นสมองข้างที่มีปัญหา หรือยับยั้งสมองข้างตรงข้ามเพื่อปรับสมดุลในการทำงานของสมอง ซึ่งการกระตุ้นดังกล่าวจะเป็นการกระตุ้นการเชื่อมต่อกันใหม่ของเซลล์ประสาท เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูและการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อดีขึ้น ไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่ออวัยวะโดยรอบจะช่วยผู้ป่วยให้ฟื้นฟูได้ดีขึ้นมากกว่า 50-60%
อย่างไรก็ดี การ “ฟื้นฟูสมอง” ยังคงเป็นหลักสำคัญที่จะสามารถทำให้ผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยทางหลอดเลือดสมองสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติขึ้น แม้ในช่วงขั้นตอนการฟื้นฟูสมองและร่างกายหลังป่วยนั้นจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าหากผู้ศุงวัยและสมาชิกในครอบครัวคอยให้กำลังใจและทำกิจกรรมต่างๆ นี้ร่วมกันก็จะสามารถผ่านขั้นตอนนี้ไปได้โดยง่าย ดังนั้น นอกจากสภาพร่างกายก็อย่าลืมดูแลสุขภาพจิตใจของผู้สูงอายุที่ก็สำคัญไม่แพ้กัน
บทความอื่นๆ
ผู้ป่วย อัลไซเมอร์ ไม่ยอมนอน ดูแลอย่างไรดี?
ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว ในผู้สูงอายุ อันตรายหรือไม่ รักษาอย่างไร?
5 ท่า บริหาร หัวใจ ผู้ สูงอายุ ช่วยให้ผู้สูงวัยหัวใจแข็งแรง