“หูตึง” อาการที่มักมาพร้อมกับอายุที่มากขึ้น โดยผู้สูงอายุจำนวนส่วนใหญ่มีปัญหากับอาการนี้อยู่ ซึ่ง 80% จะเกิดจากประสาทหูเสื่อมตามวัย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมผู้ใหญ่ในหลายๆ ครอบครัวประสบปัญหานี้ อาการทั่วไปที่เราพอจะสังเกตได้และเห็นกันอยู่บ่อยๆ ก็คือผู้สูงวัยท่านนั้นๆ จะมีความสามารทางการได้ยินเสื่อมถอยลง ได้ยินไม่ชัด ต้องให้บุตรหลานหรือผู้ที่กำลังพูดกับตนพูดซ้ำๆ หลายรอบ เป็นต้น แต่ที่ทุกคนไม่เคยทราบนั่นคืออาการนี้อาจส่งผลให้ผู้สูงอายุมีโอกาสที่จะมีภาวะสมองเสื่อมได้ด้วยนั่นเอง
“หูตึง” ในผู้สูงอายุ คืออะไร และมีอาการอย่างไร?
การสูญเสียการได้ยิน หมายถึง ภาวะที่ความสามารถในการได้ยิน/รับเสียงลดลง ซึ่งอาจเป็นเพียงเล็กน้อยหรือไม่ได้ยินเลยก็ได้ (หูหนวกสนิท) โดยสาเหตุส่วนใหญ่ของโรคมักเกิดจาก ประสาทหูเสื่อมตามวัย ความผิดปกติแต่กำเนิด การได้ยินเสียงดังมากกว่าปกติเป็นเวลานาน การได้รับบาดเจ็บบริเวณหู ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด (โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะแบบฉีด) เป็นต้น
ประเภทของการสูญเสียการได้ยิน
การสูญเสียการได้ยินสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด คือ
1.การสูญเสียการได้ยินชนิดการนำเสียงบกพร่อง (Conductive hearing loss)
มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของหูชั้นนอกและหูชั้นกลาง (แต่ประสาทหูยังดีอยู่) ทำให้มีความผิดปกติในการส่งผ่านคลื่นเสียงไปยังส่วนของหูชั้นใน สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้ยาหรือการผ่าตัด โดยปกติคลื่นเสียงจากภายนอกเมื่อผ่านเข้าไปในช่องหูจะไปกระทบกับเยื่อแก้วหู แล้วมีการส่งต่อและขยายเสียงไปยังส่วนของหูชั้นในต่อไป
โดยสาเหตุมักเกิดจาก
- เยื่อแก้วหูทะลุ (Ruptured eardrum) ผู้ป่วยจะมีอาการเกิดขึ้นในทันทีภายหลังการได้รับบาดเจ็บ
- ขี้หูอุดตัน (Cerumen impaction) ทำให้เกิดอาการได้แบบชั่วคราว เมื่อเอาขี้หูออกก็สามารถกลับมาได้ยินเป็นปกติอีกครั้ง
- หูชั้นกลางอักเสบหรือหูน้ำหนวก (Otitis media) ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจทำให้ผู้ป่วยหูหนวกได้
2.การสูญเสียการได้ยินชนิดประสาทรับเสียงบกพร่อง (Sensorineural hearing loss)
เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของส่วนหูชั้นใน ประสาทรับเสียง ไปจนถึงสมอง ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้เรารับรู้และเข้าใจเสียงต่าง ๆ ความผิดปกติบริเวณนี้จะทำให้ได้ยินเสียงแต่ฟังไม่รู้เรื่อง ส่วนใหญ่จะทำให้เกิดภาวะประสาทหูเสื่อม หูหนวกถาวร ไม่สามารถรักษาให้หายได้ และบางโรคอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
โดยสาเหตุมักเกิดจาก
- ประสาทหูเสื่อมตามวัย (Presbycusis hearing loss) เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด (80% มักเกิดจากสาเหตุนี้) มีสาเหตุมาจากเซลล์ขนในหูชั้นในและเส้นประสาทหูค่อย ๆ เสื่อมไปตามอายุ โดยเฉพาะเซลล์ขนส่วนฐานของคอเคลียจะเสื่อมไปก่อน ทำให้สูญเสียการได้ยินช่วงเสียงแหลมเมื่ออายุมากขึ้น การเสื่อมนั้นจะลามไปถึงช่วงความถี่กลางสำหรับฟังเสียงพูด ทำให้ผู้สูงอายุเริ่มมีความสามารถในการได้ยินที่ถดถอยลง ฟังไม่ชัดเจนถึงระดับเสียงที่ดังขึ้น และมักบ่นว่าได้ยินเสียงแต่ฟังไม่รู้เรื่อง นั่นเป็นเพราะเซลล์ขนแปลสัญญาณผิดเพี้ยนไป ทำให้สมองอ่านสัญญาณไม่ออก โดยมากผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการเมื่ออายุได้ประมาณ 60 ปีขึ้นไป ในผู้ชายจะมีโอกาสเป็นมากกว่าและมีความรุนแรงกว่าผู้หญิง การใส่เครื่องช่วยฟังจะช่วยให้ได้ยินได้
- ประสาทหูเสื่อมเฉียบพลัน (Acoustic trauma) เป็นการเสื่อมของเส้นประสาทหูที่เกิดจากการได้ยินเสียงที่ดังมากในระยะเวลาสั้น ๆ หรือได้ยินเพียงครั้งเดียว เช่น การได้ยินเสียงฟ้าผ่า เสียงระเบิด เสียงปืน เสียงพลุ หรือเสียงประทัด เป็นต้น
- ประสาทหูเสื่อมแบบค่อยเป็นค่อยไป (Noise-induced hearing loss) จากการได้ยินเสียงดังระดับปานกลางหรือดังเกิน 85 เดซิเบลขึ้นไปเป็นเวลานานๆ
3.การสูญเสียการได้ยินชนิดการรับฟังเสียงบกพร่องแบบผสม (Mixed hearing loss)
เป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติในการนำเสียงบกพร่องร่วมกับประสาทรับเสียงบกพร่อง ซึ่งพบในโรคที่มีความผิดปกติของหูชั้นนอกและหูชั้นกลาง ร่วมกับความผิดปกติของหูชั้นใน โรคที่พบ เช่น
- โรคหูน้ำหนวกเรื้อรังที่ลุกลามเข้าไปในหูชั้นใน
- โรคในหูชั้นกลางของผู้สูงอายุที่มีปัญหาประสาทรับเสียงเสื่อมด้วย
- โรคหินปูนเกาะกระดูกโกลนและมีพยาธิสภาพในหูชั้นในร่วมด้วย (Cochlear otosclerosis)
อาการของภาวะประสาทหูเสื่อม
ผู้ป่วยจะมีอาการที่การได้ยินลดลงจนถึงไม่ได้ยินเลยก็ได้ โดยอาจมีอาการเกิดขึ้นกับหูเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เป็น ผู้สูงอายุที่มีอาการประสาทหูเสื่อมข้างเดียวจะมีปัญหาในการฟังและลำบากในการหาทิศทางของเสียง ส่วนคนที่มีปัญหาทั้งสองข้างจะมีปัญหาทางการได้ยินในระดับที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความผิดปกติของการสูญเสียการได้ยินว่าเป็นมากน้อยเพียงใด เช่น หากอาการไม่รุนแรง ก็จะไม่ได้ยินเสียงพูดเบา ๆ หรือเสียงกระซิบ ความรุนแรงปานกลางจะไม่ได้ยินเสียงพูดปกติ อาการรุนแรงมากก็จะไม่ได้ยินเสียงพูดดัง ๆ และหากอาการหูตึงรุนแรงขั้นสุดก็จะได้ยินเสียงตะโกนเพียงเล็กน้อย แต่ได้ยินไม่ชัด แต่ถ้าหูหนวก การตะโกนก็ไม่ช่วยทำให้ได้ยินเสียงแต่อย่างใด นอกจากนี้ อาการประสาทหูเสื่อมและหูหนวกอาจเกิดร่วมกับอาการอื่นๆ ได้ อาจขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เป็น เช่น ปวดศีรษะ มีไข้ เวียนศีรษะ มีสารคัดหลั่งจากหู เป็นใบ้
ประสาทหูเสื่อมเสี่ยงสองเสื่อมด้วย จริงหรือ?
ผลงานวิจัยล่าสุดได้บ่งบอกว่าภาวะสูญเสียการได้ยินมีความเชื่อมโยงกับการเกิดโรคสมองเสื่อมอย่างเป็นนัยสำคัญ นอกจากการสูญเสียการได้ยินจะทำให้สมองเสื่อมถอยจนอาจนำไปสู่โรคความจำเสื่อมแล้ว การสูญเสียการได้ยินยังมีผลกระทบอย่างมากต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ เพราะสื่อสารกับผู้อื่นอย่างยากลำบาก ทำให้ไม่อยากเข้าสังคม แยกตัวออกจากผู้อื่น รู้สึกโดดเดี่ยว นำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุเพราะไม่ได้ยินเสียง
ใครบ้างที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง
- มีอายุมากกว่า 50 ปี
- เป็นโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคไตและภาวะไทรอยด์ต่ำ เป็นต้น
- ทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดัง เช่น โรงงาน เขตอุตสาหกรรม สถานบันเทิง
- อาศัยอยู่ในบ้านหรือชุมชนที่มีเสียงดัง เช่น ในเมืองหลวง
- ทำกิจกรรม งานอดิเรกหรือเล่นกีฬาที่มีเสียงดังและไม่ได้ใช้อุปกรณ์ป้องกันหู เช่น ยิงปืน จุดประทัด ฟังเพลงเสียงดังๆ
- เคยได้รับรังสี เช่น ได้รับการฉายแสงบริเวณศีรษะและลำคอ
- มีกรรมพันธุ์หรือประวัติคนในครอบครัวสูญเสียการได้ยิน
- เคยเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- ใช้ยาบางประเภทที่มีพิษต่อประสาทหู ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Aminoglycosides เช่น เจนตามัยซิน ยารักษามะเร็ง ยาควินิน และยารักษาอาการเสื่อมสมรรถนะทางเพศซิลเดนาฟิลหรือไวอากร้า เป็นต้น
การรักษาทำได้อย่างไร
การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ อย่างไรก็ตามหากสาเหตุเกิดจากประสาทหูเสื่อมตามวัยมักรักษาไม่หายขาด ต้องหาทางชะลอความเสื่อมและหาทางป้องกันไม่ให้ประสาทเสียงเสื่อมมากขึ้น วิธีการฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยินทำได้โดยการใช้อุปกรณ์ช่วยฟัง ได้แก่
- เครื่องช่วยฟัง (Hearing aids) ที่สวมใส่จากภายนอก เช่นสวมใส่ในหูหรือหลังใบหู
- เครื่องช่วยฟังชนิดผ่าตัดฝังในกะโหลกศีรษะ (Bone anchored hearing aids)
- เครื่องประสาทหูเทียม (Cochlear Implant)
อย่างไรก็ดี แม้ผู้สูงอายุจะไม่ได้ประสบปัญหาหูตึงกันทุกคน แต่บุตรหลานก็ควรหมั่นพาท่านไปตรวจสุขภาพอยู่เสมอ เนื่องจากเราไม่สามารถทราบได้เลยว่าสาเหตุของประสาทหูเสื่อมที่กล่าวมาเป็นสาเหตุทั้งหมดของการเกิดปัญหานี้หรือไม่ ดังนั้นการไม่ประมาทจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพื่อสุขภาพที่ดีที่สุดของผู้สูงอายุนั่นเอง
บทความอื่นๆ
ผู้ป่วย อัลไซเมอร์ ไม่ยอมนอน ดูแลอย่างไรดี?
ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว ในผู้สูงอายุ อันตรายหรือไม่ รักษาอย่างไร?
5 ท่า บริหาร หัวใจ ผู้ สูงอายุ ช่วยให้ผู้สูงวัยหัวใจแข็งแรง