ไอบ่อย ไอมาก เชื่อว่าผู้สูงอายุหลายๆ ท่านกำลังประสบปัญหากับอาการไอเรื้อรังเช่นนี้อยู่ ซึ่งการไอนั้นก็เกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเกิดจากการเป็นไข้ ไม่สบายเพียงอย่างเดียว แต่ในบางครั้งก็มาแบบไม่รู้สาเหตุก็เป็นได้ อย่างไรก็ดี อาการไอเรื้อรังเช่นนี้ ดูเผินๆ แล้วอาจดูไม่อันตรายอะไร แต่แท้จริงแล้วส่งผลเสียได้ง่ายๆ โดยเฉพาะในขณะที่ผู้สูงอายุกำลังรับประทานอาหาร ซึ่งอาจทำให้พวกท่านสำลักและเกิดผลร้ายแรงได้ในที่สุด
“ไอบ่อย ไอมาก” เกิดจากอะไร รักษาได้หรือไม่หาไม่อยากให้ผู้สูงอายุเกิดการสำลักอาหาร?
อาการไอ (Cough) คือ การตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งผิดปกติ โดยการดันลมออกจากปอดอย่างรวดเร็ว ซึ่งการไอสามารถเกิดจากความตั้งใจไอของผู้ที่มีอาการเองและสามารถเกิดขึ้นแบบอัตโนมัติจากกลไกของร่างกาย เพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในทางเดินหายใจ เช่น ฝุ่นควัน มลพิษ สารเคมี เสมหะหรือน้ำมูกที่เกิดจากอาการป่วย ฯลฯ การไอจึงถือเป็นกลไกอย่างหนึ่งในการป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายผ่านระบบทางเดินหายใจอีกด้วย
ประเภทของ “การไอ”
-
ไอเป็นชุดๆ (Paroxysmal Cough)
เกิดจากการติดเชื้อในทางเดินหายใจทำให้มีการอักเสบของเยี่อบุทางเดินหายใจ ในระยะแรกเริ่มจะมีอาการเหมือนหวัดธรรมดาทั่วไป แต่เมื่อเข้าระยะ Paroxysmal Stage ในสัปดาห์ที่ 3 จะมีอาการไอต่อเนื่องเป็นชุด 5-10 ครั้งและสลับไปกับการสูดหายใจเข้าอย่างรุนแรง ทำให้รู้สึกเจ็บหน้าอกและเหนื่อย
-
ไอแห้ง (Dry Cough)
เป็นอาการไอแบบไม่มีเสมหะ โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการไอที่พบได้บ่อยที่สุดคือ การไอจากการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบนเนื่องมาจากไข้หวัด นอกจากนี้อาจเกิดจากอาการระคายเคืองจากมลพิษ อุณหภูมิ เกิดจากผลข้างเคียงของยาบางตัวด้วย
-
ไอเปียก (Wet Cough)
คืออาการไอแบบมีเสมหะซึ่งการไอจะช่วยขับเสมหะออกจากทางเดินหายใจ เกิดจากหลายสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของไข้หวัด โดยมักจะมาพร้อมอาการอื่นทั้งน้ำมูกไหล อ่อนเพลีย นอกจากนี้อาการไอเปียกยังสามารถเกิดจากโรคหลอดลมอักเสบ คออักเสบ ปอดอักเสบ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
“การไอจนสำลักอาหาร” ในผู้สูงอายุ ภาวะอันตรายที่ปล่อยไว้ไม่ได้
เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้สูงวัย เนื่องจากอายุที่มากขึ้นทำให้กล้ามเนื้อและกลไกที่เกี่ยวข้องกับการกลืนทำงานช้าลง สำหรับการกลืนที่ลำบากจะส่งผลให้เกิดการสำลักในระหว่างรับประทานอาหาร ซึ่งการสำลักบ่อยๆ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะติดเชื้อในปอดได้ อีกทั้งการสำลักเพียงนิดเดียว ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ เพราะในกระบวนการกลืนอาหารโดยปกติ โคนลิ้นจะผลักอาหารให้เข้าไปอยู่ในคอหอย จากนั้นฝาปิดกล่องเสียงจะเคลื่อนตัวลงมาปิดทางเข้าของกล่องเสียง รวมทั้งสายเสียงทั้ง 2 ข้างจะเคลื่อนตัวมาชิดกันเพื่อปิดทางเข้าของหลอดลม ทำให้อาหารที่กำลังจะเคลื่อนตัวผ่านลงไปในทางเข้าของหลอดอาหารนั้นไม่สามารถหลุดเข้าไปในหลอดลมได้ จึงไม่เกิดการสำลัก แต่หากมีเศษอาหารหรือน้ำ หลังกลืนอาหาร หล่นเข้าไปอยู่ในหลอดลม จะทำให้เกิดอาการไอติดต่อกันหลายๆครั้ง เพื่อขับดันให้เศษอาหารนั้นหลุดออกไปจากหลอดลม จนกลายเป็นการสำลักอาหาร
ซึ่งในผู้สูงอายุแล้วถือเป็นภาวะเสี่ยงอันตรายอย่างมากๆ เนื่องจากผู้สูงอายุมักมีอาการปากแห้ง เพราะร่างกายสร้างน้ำลายได้น้อยลง ฟันและความแข็งแรงของฟันน้อยลง มีผลทำให้กำลังการบดเคี้ยวลดลง ทำให้ต้องใช้เวลาบดเคี้ยวอาหารนานขึ้น การทำงานของริมฝีปากและลิ้นลดลง ทำให้ต้องกลืนอาหารหลายครั้งกว่าปกติ นอกจากนี้ คอหอยของผู้สูงอายุยังปิดช้ากว่าวัยหนุ่มสาว ส่งผลให้อาหารอยู่ในคอหอยนานขึ้น ร่างกายอาจมีอาการหยุดหายใจขณะกลืน โดยเริ่มหยุดหายใจตั้งแต่หายใจเข้า ทำให้เมื่อกลืนอาหารแล้วต้องรีบหายใจทันที เสี่ยงต่อการสำลักได้ง่ายกว่าคนในวัยปกติอื่นๆ
ในผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี จะพบอัตราเสียชีวิตด้วยภาวะปอดติดเชื้อ จากการสำลักสูงถึงเกือบ 30%
แนวทางการรักษาและป้องกัน
การรักษาอาการไอ ควรเริ่มจากการหาสาเหตุของอาการก่อนว่าเกิดจากสาเหตุใด บางคนเกิดจากการได้รับมลพิษ เช่น ฝุ่นควัน ภูมิแพ้ การสูบบุหรี่หรือการใช้ยาบางชนิด เมื่อเราหลีกเลี่ยงจากตัวกระตุ้นเหล่านั้นหรือหยุดยาที่ทำให้เกิดอาการไอ ก็จะทำให้อาการไอหายไปได้เอง
แต่หากมีอาการไอต่อเนื่องและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงเกิดจากโรคบางชนิด ควรทานยาเพื่อบรรเทาอาการไอร่วมกับการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุของอาการไอด้วย เช่น โรคหวัด โรคหลอดลมอักเสบ หรือโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ คออักเสบ
วิธีดูแลผู้สูงอายุเพื่อป้องกันการไอสำลักอาหาร
- หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการไอ เช่น ควันบุหรี่ ฝุ่น อากาศเย็น การดื่มน้ำเย็น อาหารทอด
- ดื่มน้ำสะอาดอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ และทำให้คอชุ่มชื้น
- หายใจเอาไอน้ำเข้าไป หรือใช้เครื่องทำความชื้นภายในห้องได้
- กลั้วคอด้วยน้ำอุ่นผสมเกลือเล็กน้อย เพื่อละลายเสมหะและเมือกในคอ รวมทั้งลดอาการเจ็บคอ
- ควรงดอาหารเผ็ดจัด ของทอด อาหารไขมันสูง
- งดการดื่มน้ำเย็นหรือน้ำแข็ง
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และงดการสูบบุหรี่
อย่างไรก็ดี การ ไอบ่อย ไอมาก ในผู้สูงอายุควรได้รับการรักษา อีกทั้งต้องถูกฝึกให้กลืนอาหารอย่างเหมาะสม และสามารถรับประทานอาหารและน้ำได้อย่างปลอดภัย รวมถึงป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่เกิดตามมาได้ เช่น ภาวะปอดอักเสบติดเชื้อ ภาวะขาดน้ำ ภาวะขาดสารอาหาร ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุท่านั้นๆ โดยตรง ดังนั้น บุตรหลานควรเฝ้าระวังและคอยสังเกตผู้สูงอายุไว้ให้ดีเพื่อไม่ให้เกิดเรื่องที่น่าเศร้าในครอบครัว ยิ่งไปกว่านั้นคือการส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุท่านนั้นๆ ดีขึ้นด้วยนั่นเอง
บทความอื่นๆ
ผู้ป่วย อัลไซเมอร์ ไม่ยอมนอน ดูแลอย่างไรดี?
ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว ในผู้สูงอายุ อันตรายหรือไม่ รักษาอย่างไร?
5 ท่า บริหาร หัวใจ ผู้ สูงอายุ ช่วยให้ผู้สูงวัยหัวใจแข็งแรง