“ท้องอืด ท้องผูก” ความผิดปกติของระบบขับถ่ายที่ส่งผลให้ขับถ่ายไม่ออก หรือใช้เวลานานกว่าจะขับถ่ายได้ในแต่ละครั้ง โดยปัญหานี้มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ เนื่องจากระบบขับถ่ายของพวกท่านนั้นค่อนข้างมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง จึงทำให้พวกท่านมีปัญหาเรื่องระบบขับถ่ายอยู่บ่อยครั้ง ท้องอืด มีแก๊สเยอะ ท้องผูก ขับถ่ายไม่ออก เป็นต้น
“ท้องอืด ท้องผูก” ในผู้สูงอายุเกิดจากอะไร แก้ไขอย่างไรดี?
ท้องอืด นอกจากจะเป็นสิ่งที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานของลำไส้ซึ่งมาจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้อวัยวะต่างๆ ทำงานได้ลดน้อยลง กระทั่งพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ที่มีแก๊สสูง ทำให้เกิดภาวะท้องอืด ส่วน
ท้องผูก คืออาการถ่ายอุจจาระลำบาก ต้องเบ่งและใช้เวลานาน อุจจาระมีลักษณะแข็งมาก หลังจากถ่ายเสร็จแล้วยังปวดท้องและมีความรู้สึกว่าถ่ายไม่หมด รวมถึงการถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
สาเหตุของปัญหาระบบขับถ่ายและย่อยอาหารในผู้สูงอายุ
-
ท้องอืด แน่นท้อง ในผู้สูงอายุ
สาเหตุของอาการท้องอืดและท้องเฟ้อในผู้สูงอายุมาจากการที่ลำไส้บีบตัวได้น้อยลง เนื่องจากอายุที่เพิ่มมากขึ้นย่อมทำให้อวัยวะดังกล่าวทำงานได้ลดลง และส่วนหนึ่งมาจากการกินอาหารที่มีแก๊สในปริมาณสู เช่น อาหารกลุ่มโปรตีนอย่างถั่วหรือน้ำอัดลมรวมถึงบริโภคอาหารในกลุ่มที่ย่อยยาก เช่น เนื้อแดง (ผู้สูงอายุสามารถบริโภคเนื้อแดงได้ แต่ควรหั่นให้ชิ้นเล็ก อีกทั้งต้องเคี้ยวให้ละเอียด) และอย่างที่กล่าวไปว่า เมื่ออายุมากขึ้น เอนไซม์ช่วยย่อยทำงานลดลง อีกทั้งกรดและด่างในกระเพาะอาหารก็ทำงานผิดเพี้ยนไป ประสิทธิภาพการช่วยย่อยก็ลงน้อยลงเช่นกัน นั่นจึงเป็นสาเหตุหลักๆ ของปัญหาดังกล่าว
-
ท้องผูก ในผู้สูงอายุ
โดยส่วนใหญ่แล้ว เกิดจากการที่ผู้สูงวัยขาดการออกกำลังกาย การเคลื่อนไหวร่างกายในผู้สูงอายุเป็นเรื่องยาก อาจเนื่องด้วยกลัวการพลัดตกหกล้ม หรือบางกรณีที่มีอาการป่วยจากโรคเรื้อรัง รวมถึงไม่เห็นความสำคัญของการออกกำลังกายทำให้ลำไส้เกิดการขยับและบีบตัวน้อยลง รวมถึงปัญหาอื่นๆ เช่น ช่องปากและฟัน พฤติกรรมการรับประทานอาหารและโรคประจำตัวอื่นๆ ที่ก็สามารถส่งผลให้ผู้สูงอายุเกิดการท้องผูกได้เช่นเดียวกัน
อาการของปัญหาต่างๆ ในระบบช่องท้องของผู้สูงอายุ
-
อาการ ท้องอืด แน่นท้อง ในผู้สูงอายุ
ลักษณะอาการของภาวะท้องอืด และแน่นท้องในผู้สูงอายุ ได้แก่ อาการ ที่มีการปวดท้องส่วนบน ท้องอืด แน่นท้อง มีลมในท้อง ต้องเรอบ่อยๆ บางคนอาจจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อิ่มเร็ว หรือบางคนอาจจะมีอาการแน่นท้อง แม้กินอาหารเพียงเล็กน้อย แสบบริเวณหน้าอก เป็นต้น
-
อาการ ท้องผูก ในผู้สูงอายุ
เมื่อใดก็ตามที่การถ่ายอุจจาระเป็นเรื่องยาก ต้องเบ่งและใช้เวลานาน อุจจาระมีลักษณะแข็งมาก รวมถึงหลังจากถ่ายเสร็จแล้วยังปวดท้องและมีความรู้สึกว่าถ่ายไม่หมด นอกจากนี้การถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ก็ถือว่ามีอาการท้องผูกเช่นกัน เนื่องจากกระบวนการย่อยอาหารตั้งแต่ต้นจนถึงการถ่ายอุจจาระ ใช้เวลาประมาณ 1–3 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดของอาหาร การดื่มน้ำ ออกกำลังกาย และร่างกายของแต่ละคน ส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 1 วัน ถ้าไม่ถ่าย อุจจาระจะถูกเก็บไว้ในลำไส้ใหญ่ เมื่อสะสมมากขึ้น ทำให้อุจจาระแข็งและถ่ายด้วยความลำบาก
วิธีแก้ปัญหาระบบย่อยอาหารและขับถ่ายในผู้สูงอายุ
การปรับพฤติกรรมเพื่อแก้ปัญหา ท้องอืด แน่นท้อง ในผู้สูงอายุ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง มีรสเผ็ด หรืออาหารสำเร็จรูป
- ในแต่ละมื้อควรทานอาหารให้ตรงเวลาเสมอ
- ไม่ทานอาหารในปริมาณที่มากเกินไป หากรู้สึกว่าหิวบ่อยควรแบ่งอาหารเป็นมื้อเล็กๆ หลายมื้อ แทนการกินอาหารมากๆ ในมื้อเดียว
- หากิจกรรมทำให้ไม่ให้เครียด หรือนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- งดทานอาหารอย่างน้อย 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
การปรับพฤติกรรมเพื่อแก้ปัญหา ท้องผูก ในผู้สูงอายุ
- หากมีปัญหาช่องปากและฟัน ผู้สูงอายุควรได้รับการรักษาเพื่อช่วยให้การเคี้ยวอาหารง่ายขึ้น และช่วยให้การรับประทานอาหารมีรสชาติมากขึ้น
- ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว โดยแบ่งดื่มทั้งวัน
- รับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง เพื่อเพิ่มกากใยให้อุจจาระคล่องขึ้น
- ออกกำลังกายเบาๆ เหมาะสมกับสภาพร่างกาย เช่น เดินเล่นหลังรับประทานอาหาร หรือแกว่งแขนยามเช้า จะช่วยให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหว ช่วยในเรื่องการขับถ่ายได้ดีขึ้น
- ทำจิตใจให้แจ่มใส ฝึกขับถ่ายเป็นเวลาทุกวัน และไม่ควรใช้ยาระบายในผู้สูงวัยนานจนติดเป็นนิสัยทำให้ไม่สามารถขับถ่ายด้วยตัวเอง
- ปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนยาที่อาจมีผลทำให้ท้องผูก
อย่างไรก็ดี อาการ ท้องอืด ท้องผูก นั้น ยังคงเป็นเรื่องที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ สามารถดีขึ้นได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการดูแลของบุตรหลาน แต่หากท้องผูกร่วมกับอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น น้ำหนักลด ถ่ายเป็นมูกเลือด ลักษณะอุจจาระผิดปกติไป หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ต้องระมัดระวังมากขึ้น ถ้าพบมีความผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์
บทความอื่นๆ
ผู้ป่วย อัลไซเมอร์ ไม่ยอมนอน ดูแลอย่างไรดี?
ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว ในผู้สูงอายุ อันตรายหรือไม่ รักษาอย่างไร?
5 ท่า บริหาร หัวใจ ผู้ สูงอายุ ช่วยให้ผู้สูงวัยหัวใจแข็งแรง