อาการชักในผู้สูงอายุ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการปฐมพยาบาลหรือนำตัวพาไปรักษาทันทีเมื่อผู้สูงอายุเริ่มมีอาการ สาเหตุของการชักในผู้สูงวัยนั้นสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัยมากๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นอาการที่มาจากโรคประจำตัวหรืออาการทางสมองต่างๆ อย่างไรก็ดี แม้อาการชักจะสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย แต่ถ้าหากพบในเด็กหรือผู้สูงอายุแล้วละก็ อาการนี้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงบรรเทาอาการเท่านั้น
อาการชักในผู้สูงอายุ เกิดจากอะไร อันตรายอย่างไรบ้าง?
ผู้สูงอายุมีอาการชัก เกิดจาก….
-
กลุ่มที่ไม่ทราบสาเหตุอย่างแน่ชัด
-
กลุ่มที่สามารถพบสาเหตุได้อย่างชัดเจน
คือกลุ่มผู้ป่วยที่สามารถหาสาเหตุของโรคลมชักได้ โดยอาจเกิดจากโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดสมอง เนื้องอกในสมอง เกิดจากอุบัติเหตุที่ศีรษะอย่างรุนแรง เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการพัฒนาของสมองที่ไม่สมบูรณ์ได้อีกด้วย โดยสาเหตุเหล่านี้ส่วนใหญ่จะทำให้เกิดโรคลมชักในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่ก็อาจเกิดขึ้นในช่วงวัยเด็กได้ด้วยเช่นกัน
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้สูงอายุเกิดอาการชัก
อายุ
โรคลมชักสามารถเกิดขึ้นได้ทุกช่วงอายุแต่ก็มักเกิดขึ้นในช่วงวัยเด็กตอนต้น และช่วงอายุ 60 ขึ้นไป
ประวัติครอบครัว
หากในครอบครัวนั้นมีประวัติว่ามีผู้ป่วยโรคลมชัก ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคลมชักในครอบครัวก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น
อาการบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง
เป็นสาเหตุที่สามารถพบได้ในผู้ป่วยโรคลมชัก ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยง ควรระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุที่จะกระทบกระเทือนกับศีรษะ และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่ศีรษะ
โรคหลอดเลือดสมอง
ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากหลอดเลือดสมอง จนทำให้สมองถูกทำลายสามารถกระตุ้นให้เกิดโรคลมชักได้
โรคสมองเสื่อม (Dementia)
โรคสมองเสื่อมเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับสมองโดยตรง ซึ่งมักเกิดกับผู้สูงอายุ โรคนี้สามารถทำให้ความเสี่ยงโรคลมชักเพิ่มขึ้นได้
การติดเชื้อที่สมอง (Brain Infections)
อาทิโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุของการอักเสบที่สมองหรือไขสันหลัง ทำให้สมองและระบบทำงานของประสาทผิดปกติจนเกิดโรคลมชัก

อาการชักที่เกิดในผู้สูงอายุ
อาการของโรคลมชักที่เห็นได้ชัดคือการชักในรูปแบบต่างๆ โดยผู้ป่วยแต่ละคน อาจเกิดอาการชักได้หลายรูปแบบ อาการชักที่มักพบได้บ่อย จะแบ่งออกได้ ดังนี้
อาการชักที่มีผลต่อทุกส่วนของสมอง (Generalized Seizures)
เป็นอาการชักที่เกิดขึ้นกับสมองทั้ง 2 ซีก แบ่งได้เป็นชนิดย่อยๆ คือ
อาการชักแบบเหม่อลอย (Absence Seizures)
เป็นอาการชักที่มักเกิดขึ้นในเด็ก อาการที่โดดเด่นคือการเหม่อลอย หรือมีการขยับเขยื้อนร่างกายเพียงเล็กน้อย เช่น การกะพริบตาหรือขยับริมฝีปาก อาการชักชนิดนี้อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการเสียการรับรู้ในระยะสั้นๆ ได้
อาการชักแบบชักเกร็ง (Tonic Seizures)
เป็นอาการชักที่ทำให้เกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ โดยมักจะเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อบริเวณหลัง แขนและขา จนทำให้ผู้ป่วยล้มลงได้
อาการชักแบบกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Atonic Seizures)
อาการชักที่ส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงลง ผู้ป่วยที่มีอาการชักชนิดนี้จะไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อขณะเกิดอาการได้ จนทำให้ผู้ป่วยล้มพับ หรือหกล้มลงได้อย่างเฉียบพลัน
อาการชักแบบชักกระตุก (Clonic Seizures)
เป็นอาการชักที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติ โดยอาจทำให้เกิดการขยับเขยื้อนในจังหวะซ้ำ มักเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อบริเวณคอ ใบหน้า และแขน
อาการชักแบบชักกระตุกและเกร็ง (Tonic-clonic Seizures)
เป็นอาการชักที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อในร่างกายทุกส่วน ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อเกร็งและกระตุก ส่งผลทำให้ผู้ป่วยล้มลง และหมดสติ บางรายอาจร้องไห้ในขณะที่ชักด้วย และหลังจากอาการบรรเทาลง ผู้ป่วยอาจรู้สึกเหนื่อยเนื่องจากอาการชัก
อาการชักแบบชักสะดุ้ง (Myoclonic Seizures)
อาการชักชนิดนี้มักเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน โดยจะเกิดอาการชักกระตุกของแขนและขาคล้ายกับการโดนไฟฟ้าช็อต ส่วนใหญ่มักจะเกิดหลังจากตื่นนอน บ้างก็เกิดขึ้นร่วมกับอาการชักแบบอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกัน
อาการชักเฉพาะส่วน (Partial หรือ Focal Seizures)
อาการชักประเภทนี้จะเกิดขึ้นกับสมองเพียงบางส่วน ทำให้เกิดอาการชักที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเท่านั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
- อาการชักแบบรู้ตัว (Simple Focal Seizures) สำหรับอาการชักประเภทนี้ ขณะที่เกิดอาการ ผู้ป่วยจะยังคงมีสติครบถ้วน โดยผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกแปลกๆ หรือมีความรู้สึกวูบๆ ภายในท้อง บ้างก็อาจรู้สึกเหมือนมีอาการเดจาวู ซึ่งเป็นความรู้สึกเหมือนว่าเคยพบเห็นหรือเกิดเหตุการณ์ที่ประสบอยู่มาก่อน ทั้งๆ ที่ไม่เคย อาจเกิดความรู้สึกร่าเริงหรือกลัวอย่างกะทันหัน และได้กลิ่นหรือรับรู้รสชาติแปลกไป รู้สึกชาที่แขนและขา หรือมีอาการชักกระตุกที่แขนและมือ เป็นต้น ทั้งนี้ อาการชักดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณเตือนของอาการชักชนิดอื่นๆ ที่กำลังตามมา อาการเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ป่วยและคนรอบข้างเตรียมรับมือได้ทัน
- อาการชักแบบไม่รู้ตัว (Complex Partial Seizures) สามารถเกิดขึ้นโดยที่ผู้ป่วยอาจไม่รู้ตัวและไม่สามารถจดจำได้ว่าเกิดอาการขึ้นเมื่อใด ไม่ว่าจะในขณะที่เกิดอาการหรืออาการสงบแล้ว อาการชักชนิดนี้ไม่สามารถคาดเดาได้ โดยอาจมีอาการเช่น ขยับริมฝีปาก ถูมือ ทำเสียงแปลกๆ หมุนแขนไปรอบๆ จับเสื้อผ้า เล่นกับสิ่งของในมือ อยู่ในท่าทางแปลกๆ เคี้ยวหรือกลืนอะไรบางอย่าง นอกจากนี้ ในขณะที่เกิดอาการ ผู้ป่วยจะไม่สามารถรับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นรอบข้างได้เลย
อาการชักต่อเนื่อง (Status Epilepticus)
อาการชักชนิดนี้เป็นอาการที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันมากกว่า 30 นาทีขึ้นไป หรือเป็นอาการชักต่อเนื่องที่ผู้ป่วยไม่สามารถคืนสติในระหว่างที่ชัก ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ซึ่งบางครั้งอาการชักแบบเฉพาะส่วนนั้น อาจคล้ายกับอาการของโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทอื่นๆ อาทิ อาการปวดหัวไมเกรน ซึ่งอาจมีอาการเห็นแสงวูบวาบ โรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติในการนอนหลับ ซึ่งอาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงแบบกะทันหัน หรืออาการของโรคจิต จึงมีความจำเป็นมากที่ต้องใช้การทดสอบและการตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อแยกโรคลมชักออกจากโรคอื่นๆ
แนวทางการรักษาผู้สูงอายุที่มีภาวะอาการชัก
-
ใช้ยา
แม้ผู้ป่วยโรคลมชักส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จในการรักษาโดยการใช้ยาต้านอาการชัก (Anti-epileptic Drugs: AEDs) แต่ทว่ายาชนิดนี้ไม่สามารถรักษาอาการชักให้หายขาดได้ ทำได้เพียงบรรเทาอาการให้ดีขึ้นเท่านั้น โดยกลไกหลักของยาต้านอาการชักนั้นก็คือ ตัวยาจะเข้าไปปรับเปลี่ยนปริมาณสารเคมีในสมองที่เกี่ยวข้องกับนำกระแสไฟฟ้าในสมอง ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดอาการชัก
-
ผ่าตัดสมอง
เป็นแนวทางที่ใช้ในกรณีที่ผู้สูงอายุท่านนั้นๆ ไม่สามารถบรรเทาอาการด้วยยาได้แล้วนั่นเอง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะแนะให้เข้ารับการผ่าตัดเพื่อนำเอาสมองส่วนที่เป็นสาเหตุของโรคลมชักออก ซึ่งก่อนหน้านั้นต้องทำการวินิจฉัยก่อนว่าอาการชักเกิดจากจุดใดของสมอง เพื่อทั้งทำการทำสอบทางจิตวิทยาว่าผู้สูงอายุจะมีอาการเครียดหรือวิตกกังวลในการผ่าตัดหรือไม่ การรักษาด้วยวิธีนี้จะถูกแนะนำให้ผู้ป่วยก็ต่อเมื่อสาเหตุของโรคลมชักเกิดจากส่วนใดส่วนหนึ่งในสมองที่แน่ชัด หรือการผ่าตัดนำส่วนของสมองนั้นออกแล้วจะไม่ส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของสมองโดยรวม
แนวทางการดูแลผู้สูงอายุเพื่อป้องกันอาการชัก
แม้ว่าจะยังไม่สามารถทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคลมชัก แต่ในบางกรณีก็สามารถป้องกันไม่ให้อาการชักกำเริบได้ด้วยวิธีเหล่านี้
- รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและถูกต้อง ผู้ป่วยโรคลมชักไม่ควรเปลี่ยนปริมาณยาด้วยตัวเอง ควรปรึกษาแพทย์หากรู้สึกว่าการรับประทานยาไม่สามารถควบคุมอาการชักได้
- นอนหลับให้เพียงพอ การนอนหลับไม่เพียงพอสามารถกระตุ้นอาการชักได้ ดังนั้นจึงควรนอนหลับวันละ 6-8 ชั่วโมง
- ออกกำลังกาย การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมจะช่วยให้สุขภาพแข็งแรงมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดอาการภาวะซึมเศร้าได้ แต่ก็ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ และควรหยุดพักหากรู้สึกเหนื่อย
การปฐมพยาบาล “อาการชักในผู้สูงอายุ” ที่ถูกต้องนั้นควรทำอย่างไร?
- ห้ามนำสิ่งของใดๆก็ตามยัดปากผู้ป่วย
- พยายามจับผู้ป่วยนอนตะแคง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำลายอุดกั้นทางเดินหายใจ
- พยายามหาหมอนหรือสิ่งของนุ่มๆวางรองศีรษะผู้ป่วย เพื่อป้องกันศีรษะกระแทก
- จับเวลา ถ้าชักนานเกิน 3 นาที ผู้ป่วยจะมีภาวะเสี่ยงต่อการชักต่อเนื่อง ควรรีบเรียกรถพยาบาลโดยเร่งด่วน
- ถ้าผู้ป่วยใส่เสื้อผ้ารัด หรือสวมเนกไท ควรปลดให้หลวมเพื่อให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวก
- ถ้าขณะชักผู้ป่วยใส่แว่นควรถอดออก เพื่อป้องกันการแตก
อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญมากที่สุดของ อาการชักในผู้สูงอายุ คือการรักษาที่ต้องทำอย่างทันทีและเร่งด่วน โดยพบว่าผู้สูงอายุที่มีการรักษาอย่างถูกต้องจำนวนกว่า 70% จะไม่มีอาการชักอีกเลย แต่สำหรับผู้สูงอายุที่รักษาไม่ทันท่วงที่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้ ในผู้สูงวัยที่มีอาการดื้อต่อยาอาจต้องใช้วิธีการผ่าตัดหรือการรักษาอื่นๆร่วมด้วย ทั้งนี้ปัจจุบันมียาป้องกันอาการลมชักชนิดใหม่ๆ ออกมาอย่างมากมาย ซึ่งล้วนแต่มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นและให้ผลข้างเคียงที่ลดลง จึงทำให้คุณภาพชีวิตผู้สูงวัยดีขึ้นอย่างมาก
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
บทความอื่นๆ
ผู้ป่วย อัลไซเมอร์ ไม่ยอมนอน ดูแลอย่างไรดี?
ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว ในผู้สูงอายุ อันตรายหรือไม่ รักษาอย่างไร?
5 ท่า บริหาร หัวใจ ผู้ สูงอายุ ช่วยให้ผู้สูงวัยหัวใจแข็งแรง