“กายภาพบำบัดผู้สูงอายุ” หนทางที่ช่วยผู้สูงอายุที่มีปัญหาการเคลื่อนไหวต่างๆ ให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติมากขึ้น เราทุกคนทราบดีว่าเมื่อแก่ตัวลง ระบบต่างๆ ในร่างกายก็จะเสื่อมสมรรถภาพตามไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้นคือปัญหานี้ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมากๆ เนื่องจากหากการเคลื่อนไหวมีปัญหาก็จะทำให้เกิดอุบัติเหตุและการพลัดตกหกล้มต่อผู้สูงอายุได้ด้วย
“กายภาพบำบัดผู้สูงอายุ” คืออะไร และช่วยอะไรได้บ้าง?
อายุที่มากขึ้น มักมาพร้อมกับความทรุดโทรมของสุขภาพในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะดูแลสุขภาพอย่างดีแค่ไหน ก็มีโอกาสเกิดอาการปวดเมื่อยข้อเข่า หรือได้รับผลกระทบจากโรคเรื้อรังต่างๆ
เป็นที่ทราบกันดีว่า โรคแต่ละโรคนั้นมีวิธีการรักษาแตกต่างกันออกไป และหนึ่งในอาการที่ผู้สูงอายุพบบ่อยที่สุดก็คือเรื่องการเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งสามารถรักษาได้หลายวิธี รวมถึงการทำกายภาพบำบัดผู้อายุด้วย
กายภาพบำบัดในผู้สูงอายุ คืออะไร…
การทำกายภาพสำหรับผู้สูงอายุ (Geriatric Physical Therapy) นั้น เป็นการกายภาพบำบัดที่เน้นพัฒนาและฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายสำหรับผู้สูงอายุด้วยเทคนิคต่างๆ เช่น ออกกำลังกาย บริหารกล้ามเนื้อ ใช้อุปกรณ์ต่างๆ เสริมการรักษา
เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายจะเกิดความสึกหรอจนเกิดอาการปวดตามข้อ และตำแหน่งต่างๆ ทำให้ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เป็นปกติ การทำกายภาพบำบัดในผู้สูงอายุจะสามารถเสริมความแข็งแรง และความคล่องตัวให้กับกล้ามเนื้อได้ ช่วยให้สามารถทรงตัวได้ดีขึ้น ลดโอกาสลื่นล้มจนเกิดการบาดเจ็บ
ผู้สูงอายุท่านใดบ้างที่เหมาะกับการทำกายภาพบำบัด
- ผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบ (Arthritis)
- ผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)
- ผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer)
- ผู้ที่ผ่านการผ่าตัดสะโพก
- ผู้ที่ต้องใส่ข้อเข่าเทียม
- ผู้ที่มีปัญหาด้านการทรงตัว (Balance disorders)
- ผู้ที่มีปัญหาปัสสาวะเล็ด (Incontinence)
- ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมอง
การทำกายภาพสามารถช่วยอะไรผู้สูงอายุได้บ้าง
จุดประสงค์หลักในการทำกายภาพบำบัดสำหรับผู้สูงอายุ มักเป็นการเพิ่มสมรรถภาพร่างกายให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ประกอบไปด้วยข้อต่อไปนี้
- บรรเทาอาการปวด
- เรียนรู้วิธีการใช้อุปกรณ์เสริมต่างๆ เช่น ไม้เท้า ไม้พยุง
- ฟื้นฟูการทำงานของกล้ามเนื้อและข้อต่อ
- ฟื้นฟูความสมดุลของร่างกาย
- เพิ่มขีดความสามารถในการเคลื่อนไหว
- เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
- เพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ
- ฟื้นฟูการประสานงานกันระหว่างกล้ามเนื้อ
โดยนักกายภาพบำบัดในผู้สูงอายุ (Geriatric physical therapists) จะประเมินอาการ ความสามารถในการเคลื่อนไหว ซักประวัติ เพื่อวางแผนการรักษาให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุแต่ละคน
ประเภทของการทำกายภาพบำบัดให้กับผู้สูงวัย
กายภาพบำบัดทั่วไป (Manual Therapy)
เป็นการกายภาพบำบัดด้วยมือของนักกายภาพบำบัด เช่น การนวดผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การบิดและดึงบริเวณข้อต่อ มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการปวด
กายภาพบำบัดด้วยอัลตราซาวด์ (Ultrasound)
เป็นการใช้คลื่นเสียงส่งเข้าไปในกล้ามเนื้อเพื่อลดอาการปวด และกล้ามเนื้อกระตุก สามารถใช้ได้ทั้งก่อนและหลังออกกำลังกาย
กายภาพบำบัดประคบเย็น (Cold Therapy)
อาจใช้เวลาประคบประมาณ 15-20 นาทีต่อครั้ง ร่วมกับการนวดคลึง มีจุดประสงค์เพื่อบรรเทาอาการปวด บวม และลดการอักเสบ
กายภาพบำบัดประคบร้อน (Heat Therapy)
สามารถใช้ได้ทั้งก่อนและหลังออกกำลังกาย มีส่วนช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น บรรเทาอาการสำหรับผู้ที่ข้อเสื่อม
กายภาพวารีบำบัด (Hydrotherapy)
เป็นการทำกายภาพบำบัดในบ่อน้ำ หรืออ่างน้ำ เพราะน้ำมีแรงต้านที่ไม่มากเกินไป เมื่อออกแรงขณะใต้น้ำจะช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่ออ่อนของร่างกายได้
กายภาพบำบัดด้วยกระแสไฟฟ้า (Electrical stimulation)
มีส่วนช่วยในการระงับสัญญาณความปวดที่ส่งไปยังสมอง ทำให้อาการปวดบรรเทาลง มักใช้กับผู้ที่ข้ออักเสบ รวมถึงสามารถใช้เพื่อกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้นด้วย
อย่างไรก็ดี ผู้สูงอายุต้องได้รับการประเมินจากนักกายภาพก่อนทำการรักษาก่อนเสมอ เนื่องจากผู้สูงอายุแต่ละท่านมีปัญหาที่ไม่เหมือนกัน การเข้ารับคำแนะนำก่อนย่อมทำให้การวางแผนมีประสิทธิภาพในการรักษามากขึ้น ดังนั้น บุตรหลานจึงควรหมั่นสังเกตว่าผู้สูงอายุมีปัญหากับการเคลื่อนไหวหรือไม่ เพราะจะได้รีบพาเข้าพบแพทย์และทำกายภาพบำบัดผู้สูงอายุได้อย่างทันท่วงทีนั่นเอง
บทความอื่นๆ
ผู้ป่วย อัลไซเมอร์ ไม่ยอมนอน ดูแลอย่างไรดี?
ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว ในผู้สูงอายุ อันตรายหรือไม่ รักษาอย่างไร?
5 ท่า บริหาร หัวใจ ผู้ สูงอายุ ช่วยให้ผู้สูงวัยหัวใจแข็งแรง