“ภาวะสับสนเฉียบพลัน” เป็นภาวะที่ผู้สูงอายุในหลายๆ ครอบครัวกำลังประสบปัญหาอยู่ โดยอาการของภาวะนี้จะส่งผลให้ ผู้สูงอายุมักไม่ให้ความสนใจกับการตอบคำถาม ถูกเบี่ยงเบนความสนใจได้ง่าย อาจจะวุ่นวายหรือซึมหลับมากก็ได้ อาการมักเป็นๆ หายๆ มักเป็นช่วงพลบค่ำหรือกลางคืน พูดจาคนละเรื่อง หลงวัน จับต้นชนปลายไม่ถูก มีความสับสนมากๆ อย่างไรก็ดี ภาวะนี้เป็นกรณีเร่งด่วนที่บุตรหลานไม่ควรนิ่งนอนใจควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด
“ภาวะสับสนเฉียบพลัน” คืออะไร และมีสาเหตุมาจากอะไร?
ภาวะ Delirium คือ ภาวะที่มักจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ โดยมาจากการนอนติดเตียงเป็นเวลานานหรือหลังการพักฟื้นที่โรงพยาบาล มักมีอาการไม่คงที่ ความอันตรายของภาวะนี้อาจทำให้ผู้สูงอายุมีภาวะซึมเศร้า อาการหลงลืมแย่ลง และเป็นเหตุให้ เกิดอุบัติเหตุหกล้มได้ง่ายขึ้น เกิดภาวะทุพพลภาพ เสี่ยงต่อกระดูกหักตามมาอาจส่งผลต่อการฟื้นฟูโดยรวมและทำให้อาการป่วยทรุดลงได้ในที่สุด
สาเหตุของภาวะนี้ เกิดได้จาก…
อาการสับสนเฉียบพลันถือเป็นภาวะค่อนข้างเร่งด่วนที่ต้องไปพบแพทย์ เนื่องจากเกิดจากความผิดปกติบางอย่างของร่างกายที่ซ่อนอยู่ ซึ่งไม่ได้เกิดจากโรคทางจิตใจเสมอไปหากแต่เป็นความผิดปกติทางกายที่สำคัญที่มักเป็นสาเหตุของอาการนี้
อาการทางกายดังกล่าว ประกอบด้วย
-
ผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมอยู่เดิม
จะยิ่งมีโอกาสเกิดอาการสับสนเฉียบพลันได้ง่าย ในบางรายแค่เปลี่ยนผู้ดูแลหรือย้ายมานอนในโรงพยาบาลก็ทำให้มีอาการสับสนได้เช่นเดียวกัน
-
โรคติดเชื้อ
โดยไม่จำเป็นตัองติดเชื้อในสมองเพียงอย่างเดียว ผู้สูงอายุอาจติดเชื้อที่อื่นก็ได้ เช่น ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ติดเชื้อที่ปอด เป็นต้น
-
รับประทานยาหลายชนิด
เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด ยิ่งถ้ารับประทานยาหลายชนิด ยิ่งมีโอกาสเกิดสูงที่จะเกิดภาวะนี้ รวมไปถึงการปรับขนาดยาก็สามารถทำให้ผู้สูงวัยเกิดความสับสนเฉียบพลันได้
-
โรคอื่นๆ
เช่น โรคหัวใจวาย หัวใจสูบฉีดเลือดไม่ดี ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ เป็นต้น

ลักษณะอาการ
ภาวะสับสนเช่นนี้ เป็นภาวะที่เกิดบ่อยในผู้สูงอายุ จากสถิติพบว่าผู้สูงอายุ ราว 70% จะมีภาวะดังกล่าวแต่จะเป็นช่วงๆ ไม่ใช่ตลอดเวลา โดยส่วนใหญ่จะมีอาการคุยไม่รู้เรื่องสับสนในเรื่องของวัน เวลา และสถานที่ มีอาการเห็นภาพหลอนที่คนอื่นไม่เห็น เช่น เห็นญาติผู้ใหญ่ที่เสียไปแล้ว สมาธิไม่ดี ไม่หลับไม่นอนแต่ในทางกลับกันผู้สูงอายุบางคนจะมีอาการนอนหลับมากขึ้น ซึม พูดน้อยลง เป็นต้น
โดยลักษณะอาการนี้ ผู้สูงอายุยังมีระดับความรู้สึกตัวยังปกติ อีกทั้งอาการเกิดขึ้นเร็วและเกิดขึ้นในลักษณะขึ้นๆ ลงๆ นอกจากนี้ผู้สูงวัยที่มีภาวะสับสนจะมีความตั้งใจในการรับรู้เปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย
ใครบ้างที่มีความเสี่ยงจะเป็นผู้ป่วยสับสนเฉียบพลัน
-
ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
-
มีภาวะสมองเสื่อม หรือโรคสมองอื่นๆ
-
มีอารมณ์ซึมเศร้า
-
มีการมองเห็น หรือการได้ยิน ผิดปกติ
-
ติดสุรา รวมถึง สูญเสียความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเอง
แนวทางการดูแลและป้องกันภาวะอาการนี้ให้ผู้สูงอายุ
1.พยายามให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมระหว่างวันด้วยตนเอง
อาจเป็นการรับผิดชอบตนเองง่าย ๆเช่น อาบน้ำเอง แต่งตัวเอง ตักข้าวเอง เป็นต้น เพื่อกระตุ้นสมองและร่างกายของผู้ป่วยให้ได้ทำงานมากขึ้น
2.ดูแลเรื่องยาของผู้สูงอายุให้ดี
เรื่องนี้บุตรหลานควรให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะหากผู้สูงอายุได้รับยาที่หลายชนิดและมากจนเกินไป อาจทำให้ภาวะของสมองทำงานผิดปกติได้
3.อาหารการกิน
เป็นอีกปัจจัยที่ค่อนข้างสำคัญ เพราะลูกหลานต้องดูแลให้ผู้สูงวัยได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและเหมาะกับวัย สารอาหารดังกล่าวจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและบำรุงระบบต่างๆ ในร่างกาย รวมไปถึงระบบประสาทให้ดีมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
4.เรื่องการมองเห็นและการได้ยิน
หากผู้สูงอายุมีปัญหาในเรื่องความสามารถของระบบต่างๆ ก็ให้ท่านสวมแว่นสายตาและเครื่องช่วยฟัง เพราะจะทำให้มองเห็นและได้ยินดีขึ้น ทำให้สามารถรับรู้เหตุการณ์รอบตัวได้มากขึ้น
5.กระตุ้นเรื่องการจำวันและเวลา
เช่น จัดตารางกิจวัตรประจำวันให้ผู้สูงอายุทำเป็นปกติ ไม่ควรเปลี่ยนแปลงกิจกรรมบ่อย เพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุสับสน
อย่างไรก็ดี จากที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า ภาวะสับสนเฉียบพลัน เช่นนี้เป็นสิ่งที่บุตรหลานไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะจะส่งปัญหาสุขภาพอีกหลายๆ อย่างให้กับผู้สูงอายุ อย่างไรก็ดี หากผู้สูงอายุท่านใดมีความเสี่ยง หรือมีอาการที่น่าสงสัย บุตรหลานควรรีบพาไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาทางรักษาที่ถูกต้องต่อไป
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
บทความอื่นๆ
ผู้ป่วย อัลไซเมอร์ ไม่ยอมนอน ดูแลอย่างไรดี?
ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว ในผู้สูงอายุ อันตรายหรือไม่ รักษาอย่างไร?
5 ท่า บริหาร หัวใจ ผู้ สูงอายุ ช่วยให้ผู้สูงวัยหัวใจแข็งแรง