อาการนอนกระตุก เป็นการเคลื่อนไหวทางร่างกายที่เราไม่รู้ตัวและไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งในผู้สูงอายุบางท่านอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น รู้สึกเหมือนตกจากที่สูง หัวใจเต้นถี่-เต้นรัว ซึ่งสามารถพบได้ตั้งแต่ช่วงก่อนนอนไปจนถึงระหว่างการนอนของผู้สูงอายุ ส่งผลให้พวกท่านนอนหลับไม่สนิทและสะดุ้งตื่นกลางดึกได้
อาการนอนกระตุก ในผู้สูงอายุเกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่?
โดยทั่วไปแล้วมนุษย์เรานั้นต้องมีเวลานอนนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวัน โดยเฉพาะในผู้สูงอายุนั้น การนอนพักผ่อนเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายต้องซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอนั่นเอง อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดอาการกระตุกในขณะที่นอนหลับนั้น ทำให้ผู้สูงอายุบางท่านต้องสะดุ้งตื่นและหลับไม่สนิทได้ ทำให้นอนได้ไม่เต็มอิ่มและไม่เต็มที่ และส่งผลเสียต่อสุขภาพในที่สุด ซึ่งหากเป็นเช่นนี้บุตรหลานควรรับมืออย่างไร?
นอนกระตุกในผู้สูงวัยเกิดจาก…..
นอนกระตุก (Hypnic Jerks) เกิดจากการหดตัวจากกล้ามเนื้อซึ่งทำให้เกิดอาการการกระตุกอย่างกะทันหันในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ไม่ใช่อาการผิดปกติจากการนอนหลับ อย่างไรก็ตาม ความผิดปกติจากการนอนหลับ อาจนำไปสู่ความวิตกกังวล และทำให้นอนไม่หลับ เพราะกังวลว่าจะเกิดการกระตุกซ้ำๆ ขณะนอนหลับ
ลักษณะอาการ
ผู้ป่วยที่มีอาการนอนกระตุกบ่อย ๆ จะมีลักษณะอาการระดับรุนแรงที่แตกต่างกันออกไป โดยส่วนใหญ่มีลักษณะอาการดังต่อไปนี้
- กล้ามเนื้อกระตุกขณะนอนหลับ
- หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ขึ้น
- เหงื่อออก
- อารมณ์แปรปรวน
สาเหตุที่ทำให้เกิดการนอนกระตุกในผู้สูงอายุ
แม้จะดูเป็นอาการธรรมดา แต่การนอนกระตุกในผู้สูงอายุนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ในบางรายนั้นมักไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ปัจจัยเสี่ยงบางอย่างอาจกระตุ้นให้เกิดอาการได้ เช่น
1.ความเครียดและวิตกกังวล
อารมณ์ทางลบ ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ความรู้สึกวิตกกังวล หรือความเศร้า อาจส่งผลต่อการทำงานของสมองจนกระตุ้นให้สมองและร่างกายตื่นตัวเพื่อรับมือกับสิ่งที่กำลังกังวล จึงทำให้ร่างกายเกิดการกระตุกแบบฉับพลัน
2.การออกกำลังกาย
การออกกำลังกายจะส่งผลให้กล้ามเนื้อและสมองทำงานเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการออกกำลังกายในช่วงค่ำหรือใกล้เวลานอนหลับ ซึ่งทั้งกล้ามเนื้อและสมองอาจทำงานต่อเนื่องหลังหยุดออกกำลังกายไปหลายชั่วโมง จึงอาจทำให้เกิดการกระตุกของร่างกายระหว่างนอนหลับได้
3.คาเฟอีน
อย่างที่ทราบกันดีว่าคาเฟอีนเป็นสารที่ทำให้ร่างกายและสมองเกิดการตื่นตัว ซึ่งในบางครั้งการรับประทานเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูงหรือการรับประทานใกล้เวลานอนจะทำให้คาเฟอีนยังคงหลงเหลืออยู่ในร่างกาย จึงอาจไปกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทระหว่างนอนหลับและเกิดอาการนอนกระตุกตามมา
4.ลักษณะการนอน
เช่น การนอนคว่ำ ซึ่งอาจทำให้หายใจไม่ออกอาจนำไปสู่การกระตุกของกล้ามเนื้อ

วิธีรับมือเมื่อผู้สูงอายุนอนกระตุก
แม้ว่านอนกระตุกจะไม่ใช่อาการที่ร้ายแรง แต่สามารถปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์บางอย่างเพื่อป้องกันอาการนอนกระตุกหรือลดความถี่ให้เกิดน้อยลงได้ เช่น
- เปลี่ยนเวลาในการออกกำลังกายไม่ให้ใกล้เวลานอนมากเกินไป
- ลดปริมาณคาเฟอีนและงดคาเฟอีนในช่วงบ่ายไปจนถึงก่อนนอน
- งดสูบบุหรี่และสารกระตุ้นอื่น ๆ อย่างเครื่องดื่มชูกำลัง
- งดเล่นเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ อย่างสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ก่อนเข้านอนอย่างน้อย 30 นาที
- ทำกิจกรรมผ่อนคลายเบา ๆ ก่อนนอน เช่น นั่งสมาธิ อ่านหนังสือเพื่อลดความเครียดและความกังวล
- หากคาดว่าอาการดังกล่าวมีสาเหตุมาจากยาที่ใช้ ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับยาที่ใช้อยู่
แนวทางการรักษา
แม้จะเป็นภาวะที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาและดูแลตนเองจะสามารถบรรเทาความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้นได้ โดยทำตามวิธีดังต่อไปนี้
รับประทานอาหารที่ดี
ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายในปริมาณที่เหมาะสม โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก เช่น ผักปวยเล้ง อาหารทะเลประเภทกุ้งหรือหอย เครื่องในสัตว์ เป็นต้น และอาหารที่มีกรดโฟลิคสูง เช่น พืชตระกูลถั่ว หน่อไม้ฝรั่ง และไข่ เป็นต้น เพราะหากมีธาตุเหล็กและกรดโฟลิค ในเลือดอยู่ในระดับต่ำ อาจส่งผลให้เกิดอาการของภาวะนี้ได้
หลีกเลี่ยงคาเฟอีน
ควรให้ผู้สูงอายุงดการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ เช่น ชา กาแฟ โกโก้ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง ช็อกโกแลต เป็นต้น รวมถึงงดใช้ยาที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบอย่างยาแก้ปวดหัวไมเกรน เนื่องจากคาเฟอีนจะทำให้อาการของภาวะนี้รุนแรงยิ่งขึ้น
ใช้ยารักษา
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาจสั่งจ่ายยาในกรณีที่อาการนั้นอยู่ในขั้นรุนแรง โดยยาที่ใช้บรรเทาอาการขากระตุกขณะนอนหลับเป็นกลุ่มยาแบบเดียวกันกับที่ใช้รักษาอาการ RLS หรือโรคขาอยู่ไม่สุข เพื่อยับยั้งการหดเกร็งของกล้ามเนื้อนั่นเอง
ท้ายที่สุด อาการของภาวะนี้ได้ด้วยการดูแลสุขภาพกายใจของผู้สูงวัยให้ดีอยู่เสมอ โดยสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับท่านและไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเป็นระยะ โดยเฉพาะการตรวจระดับธาตุเหล็กและกรดโฟลิคในเลือดที่แสดงถึงการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายว่าสามารถทำงานได้อย่างปกติและมีประสิทธิภาพหรือไม่ รวมทั้งลูกหลานควรปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตของพวกท่านให้ส่งผลดีต่อสุขภาพมากขึ้น เช่น งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน งดสูบบุหรี่ ทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียดอย่างการเล่นโยคะ การนั่งสมาธิ การนวด หรือการแช่น้ำอุ่นก่อนนอน เป็นต้น
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
บทความอื่นๆ
ผู้ป่วย อัลไซเมอร์ ไม่ยอมนอน ดูแลอย่างไรดี?
ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว ในผู้สูงอายุ อันตรายหรือไม่ รักษาอย่างไร?
5 ท่า บริหาร หัวใจ ผู้ สูงอายุ ช่วยให้ผู้สูงวัยหัวใจแข็งแรง