“ไมเกรนผู้สูงอายุ” เชื่อว่าผู้สูงอายุหลายๆ ท่านต้องเคยประสบปัญหานี้มาก่อน หรืออาจกำลังประสบอยู่ อาการปวดหัวที่ค่อนข้างสร้างความเจ็บปวดและรำคาญใจในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยธรรมชาติแล้วเมื่ออายุมากขึ้น อุบัติการณ์ของการปวดศีรษะไมเกรนจะลดน้อยลง อันเนื่องมาจากภาวะฮอร์โมนในร่างกายบางอย่างลดลง แต่ก็ยังพบการปวดศีรษะไมเกรนได้ในผู้สูงอายุ โดยความสำคัญของการวินิจฉัยและรักษานั้นค่อนข้างจะมีความซับซ้อน บุตรหลานจึงจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด
“ไมเกรนผู้สูงอายุ” เกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่?
จากที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า โดยธรรมชาติแล้วเมื่ออายุมากขึ้น อุบัติการณ์ของการปวดศีรษะไมเกรนจะลดน้อยลง อันเนื่องมาจากภาวะฮอร์โมนในร่างกายบางอย่างลดลง แต่ก็ยังพบการปวดศีรษะไมเกรนได้ในผู้สูงอายุ แต่การจะตรวจสุขภาพและทำการรักษานั้นค่อนข้างจะมีความซับซ้อน เนื่องจากผู้สูงอายุอาจมีโรคประจำตัวอื่นๆ ที่ต้องใช้ยารับประทานเป็นประจำ และยังต้องระวังการปวดศีรษะที่มาจากภาวะโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น การติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมอง โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น
สาเหตุของการเกิดไมเกรนในผู้สูงอายุ
-
กระแสไฟฟ้าบริเวณผิวสมองผิดปกติ
ภาวะปวดศีรษะไมเกรน เกิดจากการส่งกระแสไฟฟ้าบริเวณผิวสมองผิดปกติ ส่งผลให้สมองไวต่อสิ่งกระตุ้น มากกว่าคนทั่วไป ซึ่งเมื่อสมองถูกกระตุ้นจะเกิดกระแสไฟฟ้าวิ่งไปตามผิวของสมอง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ของเส้นเลือดในสมอง อีกทั้งยังไปกระตุ้นเส้นประสาทสมองให้หลั่งสารสื่อประสาทบางชนิดที่ทำให้หลอดเลือดสมองขยายตัวและเกิดการอักเสบ จนเป็นผลทำให้ปวดศีรษะ
-
สิ่งกระตุ้นอื่นๆ ที่ทำให้ปวดไมเกรน
สิ่งกระตุ้นที่สามารถทำให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน ได้แก่ ความเครียด พักผ่อนน้อย การสูดกลิ่น หรือควัน แสงแดด อากาศร้อนหรือหนาวจัด รวมถึงอาหารบางชนิด เช่น ของหมักดอง ชีส และไวน์ ซึ่งบุตรหลานควรดูแลให้ผู้สูงอายุหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นเหล่านี้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้
-
การเข้ารับการรักษาช้า
หากไม่ได้รับการรักษาหรือเข้ารับการรักษาช้า สมองจะปรับระบบรับความเจ็บปวดในสมอง ทำให้อาการปวดศีรษะรุนแรงขึ้น และมีความถี่มากขึ้น จนในที่สุดจะไม่ตอบสนองต่อยาแก้ปวดอีกต่อไป
ลักษณะอาการ
- ปวดศีรษะรุนแรงแบบตุ้บๆ คล้ายเส้นเลือดบีบตัว
- มักเกิดขึ้นข้างใดข้างหนึ่ง อาจย้ายข้างได้ หรือปวดทั้ง 2 ข้าง
- อาการปวดมักรุนแรงขึ้น เมื่อทำกิจกรรม เช่น การเดินหรือขึ้นบันได การก้มหรือเงยศีรษะ
- อาการปวดจะบรรเทาลง หากได้พักผ่อนอยู่นิ่งๆ ในห้องที่มืดและเย็น
- อาการคลื่นไส้ หรืออาเจียน ร่วมกับภาวะปวดศีรษะรุนแรง
- การมองเห็นภาพบิดเบี้ยว เห็นภาพคล้ายเกล็ดน้ำแข็ง เห็นเป็นแสงวาบๆ (Flashing) เห็นแสงจ้า
- การได้รับกลิ่นบางอย่าง เช่น สี น้ำหอม จะเป็นตัวกระตุ้นการปวดศีรษะได้ง่าย
ระยะของการปวดไมเกรน
ระยะก่อนมีอาการ (Prodome symtoms)
ประมาณ 24 ชั่วโมงก่อนปวดหัว มีอาการผิดปกติทางสมองแบบทั่วๆไป เช่น รู้สึกเหนื่อยเพลีย มีความรู้สึกตื้อๆ หงุดหงิดง่าย ทนต่อแสงเสียงไม่ค่อยได้ คิดช้าทำช้า มีความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร รู้สึกอยากอาหารมากกว่าปกติ เป็นต้น
ระยะอาการนำ (Aura)
ประมาณ 20-40 นาทีก่อน หรือระหว่างปวดหัว จะมีความผิดปกติทางด้านการมองเห็น โดยมักจะมีความผิดปกติทางด้านการมองเห็น เช่น การมองเห็นแสงแฟลช แสงสว่างจ้า แสงระยิบระยับ หรือเป็นแสงรูปซิกแซก ในบางคนอาจจะมีอาการแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกได้
ระยะปวดศีรษะ (Headache)
จะมีอาการปวดหัวข้างเดียว หรือเป็นทั้ง 2 ข้างก็ได้ ปวดตุบๆ ตามการเต้นของชีพจร มักจะเริ่มเป็นช้าๆ ในเวลา 30-60 นาที จนมีอาการปวดมากที่สุด และอาการจะคงอยู่ครึ่งวันหรือตลอดวัน หรือบางคนอาจจะคงมีอาการปวดศีรษะได้ถึง 72 ชั่วโมง และจะค่อยๆ หายไป อาจเกิดร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน หงุดหงิด ปวดต้นคอ และจะแพ้ต่อสิ่งเร้าต่างๆ เป็นพิเศษ เช่น แสงจ้า เสียงดัง เป็นต้น
ระยะหาย (Post drome)
อาการสำคัญคืออาการอ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ไม่แจ่มใส ปัสสาวะมาก หรือกระหายน้ำ อาการเหล่านี้จะเป็นอยู่ 1 ชั่วโมงถึง 4วัน โดยเฉลี่ยประมาณ 2 วัน
“คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า” บอกลา “ไมเกรน”
ในขั้นตอนการรักษานั้น จะนำหัวส่งคลื่นแม่เหล็กมาวางที่ศีรษะ ใช้เวลาเพียง 20-30 นาที โดยควรเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง 2 -3 ครั้งต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องกันอย่างน้อยประมาณประมาณ 5 ครั้ง หรือตามดุลยพินิจของแพทย์ด้านสมองและระบบประสาทจะเป็นผู้ประเมินว่าต้องทำกี่ครั้งรวมถึงความถี่ในการทำต่อสัปดาห์ และจากการเข้ารับการรักษานั้น จะเริ่มเห็นผลประมาณครั้งที่ 5 เป็นต้นไป
เมื่อทำเสร็จแล้วสามารถกลับบ้านได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล ไม่สร้างบาดแผลหรือความเจ็บปวดใดๆ ขณะรักษาแก่ผู้ป่วยเทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า TMS มีความปลอดภัยสูงมาก เนื่องจากมีผลอยู่ในวงจำกัดที่แคบมาก เพียง 1-3 เซนติเมตร จากหัวกระตุ้น จึงไม่มีผลกระทบที่อันตรายต่ออวัยวะของร่างกาย
การป้องกันอาการ ไมเกรนผู้สูงอายุ
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์หลากหลาย เน้นอาหารกากใยสูง
- ออกกำลังกายเบาๆ ที่เหมาะสม หรือตามคำแนะนำของแพทย์
- ไม่ซื้อยาแก้ปวด หรือยารักษาอาการอื่นๆ มารับประทานเองโดยเด็ดขาด
- ปรึกษาแพทย์ทุกครั้งที่พบความผิดปกติของร่างกาย หรือมีอาการปวดศีรษะรุนแรง
อย่างไรก็ดี หากผู้สูงอายุเริ่มมีอาการปวดหัวข้างเดียวหรือสองข้าง ติดต่อต่อกันหลายชั่วโมง มีอาการปวดหัวจี๊ดๆ ตุบๆ ตลอดเวลา หรือมีอาการอื่นร่วมด้วยไม่ว่าจะเป็น อาการคลื่นไส้อาเจียน เป็นสัญญาณน่าสงสัยว่าเริ่มเป็นไมเกรน บุตรหลานอย่าชะล่าใจปล่อยให้อาการรุนแรง ควรรีบมารักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าจะทำให้การรักษาไมเกรนผู้สูงอายุเห็นผลอาการปวดหัวดีขึ้นและกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
บทความอื่นๆ
ผู้ป่วย อัลไซเมอร์ ไม่ยอมนอน ดูแลอย่างไรดี?
ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว ในผู้สูงอายุ อันตรายหรือไม่ รักษาอย่างไร?
5 ท่า บริหาร หัวใจ ผู้ สูงอายุ ช่วยให้ผู้สูงวัยหัวใจแข็งแรง