“Piriformis Syndrome” หรือ อาการกล้ามเนื้อสะโพกทับเส้นประสาท มักเกิดจากการที่ผู้ป่วยนั่งเฉยๆ อยู่เป็นเวลานานๆ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่ในผู้สูงอายุนั้นมักมีความน่าเป็นห่วงกว่าวัยอื่นๆ เสมอเมื่อป่วยขึ้นมา เนื่องจากจะมีความรุนแรงและการรักษาที่ยากกว่าวัยอื่นๆ เนื่องจากสมรรถภาพทางร่างกายเริ่มถดถอยลง นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมบุตรหลานจึงควรหาวิธีการรักษาที่เหมาะกับการรักษาภาวะโรคนี้ให้กับผู้สูงอายุที่ถูกต้องอย่างแท้จริง เพราะหากผู้สูงวัยต้องเข้ารับการรักษาใดๆ ที่ไม่ตรงจุดแล้วล่ะก็ นอกจากจะต้องเสียเวลาแล้ว ก็อาจทำให้อาการของพวกท่านรุนแรงกว่าเดิมก็เป็นได้
“Piriformis Syndrome” คืออะไร อันตรายหรือไม่หากเกิดในผู้สูงอายุ?
โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในคนหลายๆ กลุ่ม โดยเฉพาะคนที่นั่งทำงานนานๆ ในออฟฟิศ ทำให้เกิดการงอสะโพก หรือผู้สูงอายุที่เมื่ออายุมากขึ้นก็ไม่สามารถลุกไปไหนได้ถนัดนักและต้องนั่งอยู่เป็นเวลานานๆ ก็มีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี คนที่ต้องนั่งท่าเดิมเป็นเวลานานๆ เช่น พนักงานออฟฟิศ พนักงานขับรถ พนักงานขายตั๋ว รวมถึงคนที่เคลื่อนไหวสะโพกมากเกินไป เช่น ออกกำลังกายหนักๆ นักวิ่ง ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้ได้ด้วย
กลุ่มอาการกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท คือ…
เป็นความผิดปกติของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เกิดจากกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิสบริเวณก้นใกล้กับสะโพกไปกดทับเส้นประสาทไซอาติกที่อยู่ใกล้กัน ส่งผลให้รู้สึกปวดบริเวณก้นร้าวไปยังขา หากมีอาการรุนแรงมาก อาจส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการนั่ง เช่น นั่งทำงาน หรือขับรถ เป็นต้น
สาเหตุของกลุ่มอาการกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท
โดยปกติ กลุ่มอาการนี้มักเกิดจากการอักเสบ การบาดเจ็บ การเกิดแผลเป็น หรือภาวะเลือดออกที่กล้ามเนื้อพิริฟอร์มิส อันเป็นผลมาจากปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้
- เคลื่อนไหวร่างกายส่วนล่างผิดท่า
- ออกกำลังกายมากเกินไป
- วิ่งหรือทำกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวขาอย่างต่อเนื่อง
- นั่งเป็นเวลานาน
- ยกของหนัก
- เกิดอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายส่วนล่าง เช่น ลื่นล้ม ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ เป็นต้น
อาการของกลุ่มอาการกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท
พิริฟอร์มิส คือ กล้ามเนื้อที่อยู่ภายในก้นใกล้กับสะโพก มีหน้าที่รักษาสมดุลของสะโพกและช่วยให้ต้นขาเคลื่อนไหวไปยังทิศทางต่าง ๆ ได้ จึงจำเป็นต่อการรักษาสมดุลของร่างกายและการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องใช้ลำตัวส่วนล่าง หากกล้ามกล้ามเนื้อชนิดนี้ไปกดทับเส้นประสาทไซอาติก ซึ่งเป็นเส้นประสาทขนาดใหญ่ที่พาดผ่านขาทั้ง 2 ข้าง อาจส่งผลให้เกิดอาการ ดังต่อไปนี้
- ปวดและชาที่ก้นร้าวไปยังขาทั้ง 2 ข้าง
- รู้สึกเจ็บเมื่อใช้มือกดบริเวณก้น
- ปวดหลังช่วงล่าง
ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดมากขึ้นเมื่อต้องนั่งเป็นเวลานานหรือทำกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวลำตัวส่วนล่าง เช่น วิ่ง หรือขึ้นบันได เป็นต้น หากมีอาการรุนแรงมากก็อาจทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตตามปกติได้
แนวทางการรักษากลุ่มอาการกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท
โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยสูงอายุที่อาการไม่ได้รุนแรงสามารถรักษาตนเองได้ที่บ้าน แต่ถ้าหากมีอาการที่มากกว่านั้นแพทย์ก็จะแนะนำวิธีการรักษาที่แตกต่างกันออกไป โดยแต่ละวิธีจะมีความเหมาะสมกับผู้สูงอายุที่อาการแตกต่างกันออกไป เช่น
การใช้ยารักษา
ฉีดยาที่มีฤทธิ์ช่วยให้กล้ามเนื้อชา หรือยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ
การกระตุ้นเส้นประสาท
กระตุ้นเส้นประสาทผ่านทางผิวหนังเพื่อลดความเจ็บปวดด้วย Peripheral Magnetic Stimulation (PMS) หรือ การกระตุ้นสมองด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า โดยใช้กระแสไฟฟ้ารบกวนการทำงานของสัญญาณในสมองที่กระตุ้นให้รู้สึกเจ็บปวด ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดน้อยลง
การผ่าตัด
บางกรณีแพทย์อาจต้องผ่าตัดเพื่อแก้ไขการกดทับที่เส้นประสาท
แนวทางการบรรเทาความปวดด้วยการยืดกล้ามเนื้อสำหรับผู้สูงอายุ
- ให้นอนราบกับพื้นแล้วชันเข่าขึ้นทั้ง 2 ข้าง
- ยกข้อเท้าซ้ายมาวางพาดไว้บนเข่าขวา
- ใช้มือดึงเข่าขวาเข้าหาอกแล้วค้างไว้ นับ 1-10
- วางขากลับไปชันเข่าเช่นเดิม
- สลับมายกข้อเท้าขวามาวางพาดไว้บนเข่าซ้าย แล้วทำซ้ำในลักษณะเดียวกัน
- เมื่อทำครบทั้งซ้ายและขวา ให้นับเป็น 1 เช็ต
- ทำเช่นนี้ต่อเนื่อง 5-10 เซ็ต ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดลงได้
การรักษากลุ่มอาการกล้ามเนื้อสะโพกทับเส้นประสาทด้วยการทำ กายภาพบำบัด สำหรับผู้สูงวัย
ในกรณีที่ผู้สูงอายุมีอาการไม่รุนแรงมากนัก ยังเคลื่อนไหวร่างกายได้ และยังควบคุมระบบการขับถ่ายได้เป็นปกติ วิธีการรักษาที่จะช่วยบรรเทาความเจ็บได้อย่างปลอดภัยก็คือ “การกายภาพบำบัด” โดยส่วนใหญ่ก็จะใช้การอัลตร้าซาวด์บริเวณกล้ามเนื้อ piriformis เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว ก็จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดลงได้ ซึ่งควรทำควบคู่ไปกับการยืดกล้ามเนื้อ และการประคบร้อนเป็นประจำด้วยตนเอง และอีกสิ่งที่สำคัญก็คือการหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้อาการเจ็บปวดกำเริบขึ้นมา แต่หากใช้การรักษาด้วยการกายภาพบำบัดแล้วยังไม่ดีขึ้นก็ควรพบแพทย์เพื่อพิจารณาการใช้ยา หรือการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่เพียงแต่ผู้สูงอายุที่มีอาการ Piriformis Syndrome เท่านั้นที่ควรเข้าพบแพทย์ แต่ยังรวมถึงผู้สูงอายุที่มีอาการปวดในบริเวณสะโพกด้านหลัง หรือมีอาการอื่นๆ ที่สงสัยว่าเป็นภาวะของโรคนี้ ก็ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพื่อเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ ซึ่งอาจขอคำแนะนำเกี่ยวกับการออกกำลังกายและยืดกล้ามเนื้อที่ถูกต้อง การนั่งในท่าทางที่ถูกต้องสำหรับผู้สูงวัย เพราะสิ่งเหล่านี้ก็สามารถช่วยป้องกันภาวะนี้ได้เช่นกัน
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
บทความอื่นๆ
ผู้ป่วย อัลไซเมอร์ ไม่ยอมนอน ดูแลอย่างไรดี?
ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว ในผู้สูงอายุ อันตรายหรือไม่ รักษาอย่างไร?
5 ท่า บริหาร หัวใจ ผู้ สูงอายุ ช่วยให้ผู้สูงวัยหัวใจแข็งแรง