ผู้สูงอายุ นอนติดเตียง เป็นภาวะของผู้ป่วยที่พบได้มากในหมู่ผู้สูงวัยของไทย เพราะในปัจจุบันมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันจำนวนผู้สูงอายุติดบ้านที่มีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน และผู้สูงอายุติดเตียงที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ก็มีมากขึ้นตามไปด้วย ใครมีผู้สูงอายุที่ต้องดูแล ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยยิ่งต้องให้ความสำคัญ และต้องเอาใจใส่สังเกตทั้งเรื่องสุขภาพร่างกายและสุขภาพใจ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี คนในครอบครัวต้องเข้าใจปัญหาต่างๆ ของผู้สูงอายุ รวมไปถึงการดูแลอย่างถูกต้องและเหมาะสม
ผู้สูงอายุ นอนติดเตียง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องดูแลอย่างไร?
เมื่อประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” อย่างสมบูรณ์เมื่อมีประชากรอายุ 60 ปี เนื่องจากเริ่มมีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับอวัยวะต่างๆ ทำงานช้ากว่าและบางคนอาจช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ซึ่งในลักษณะแบบนี้เรียกว่า “ผู้ป่วยติดเตียง” ดังนั้นการดูแลผู้สูงอายุที่ติดเตียงจำเป็นต้องดูแลและทำความเข้าใจอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในการดูแลรักษา
ผู้ป่วยติดเตียง คือ…
ผู้สูงอายุติดเตียง คือ ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา อาจเป็นเพราะเกิดการเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุ การเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรังที่เข้าสู่การลุกลามมากขึ้น จนส่งผลให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ซึ่งบางคนอาจจะสามารถขยับแขนหรือขาได้บ้าง แต่ยังต้องมีคนช่วยเหลือในการทำกิจวัตรประจำวันทุกอย่าง เช่น การป้อนอาหาร ช่วยล้างหน้าแปรงฟัน ช่วยอาบน้ำ เป็นต้น ในครอบครัวที่มีผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียงอาศัยอยู่ด้วย คนในครอบครัวจะต้องสละเวลาส่วนใหญ่มาคอยดูแลผู้สูงอายุติดเตียงเหล่านี้ เพราะต้องได้รับการดูแลมากกว่าปกติ ทั้งทางด้านร่างกาย และสภาพจิตใจ
ปัญหาที่ผู้สูงอายุนอนติดเตียงมักพบเจอ
อาการ “นอนติดเตียง” สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีสุขภาพร่างกายอยู่ในภาวะเสื่อมโทรม จนต้องนอนอยู่บนเตียงอย่างเดียวตลอดเวลาไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ จึงมักเกิดจากโรค อุบัติเหตุ รวมถึงจากการผ่าตัดใหญ่ สิ่งที่ตามมาจากภาวะการนอนติดเตียง คือผลข้างเคียงที่นำพาไปสู่การเสียชีวิต เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินปัสสาวะ เกิดแผลกดทับ การขาดอาหารอย่างรุนแรง เป็นต้น ดังนั้น การดูแลผู้สูงอายุที่นอนติดเตียง จึงจำเป็นต้องดูแลอย่างใกล้ชิดด้วยความรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้อง
1.แผลกดทับจากการนอนนิ่งๆ เป็นเวลานาน
สาเหตุการเกิดแผลกดทับ คือการที่ผู้ป่วยนอนนานๆ บริเวณที่เป็นปุ่มกระดูกต่างๆ เหล่านี้จะขาดเลือดมาเลี้ยงที่ผิวหนัง จึงทำให้เซลล์บางตัวตายจนเป็นแผลไปเรื่อยๆ สามารถเกิดขึ้นได้หลายจุด เช่น ท้ายทอย สะบัก ศอก สะโพก กระดูกก้นกบ ส้นเท้า เป็นต้น ในระยะแรกอาจเกิดอาการลอกแค่ที่ผิว แต่พอนานวันเข้าก็อาจจะลอกไปจนถึงชั้นกล้ามเนื้อ หรืออาจจะถึงชั้นกระดูก และเมื่อร่างกายปราศจากผิวหนังซึ่งทำหน้าที่ปกคลุมแล้ว โอกาสเกิดการติดเชื้อจึงมีมากขึ้น และอาจรุนแรงถึงชีวิตได้
2.ภาวะกลืนลำบาก
สาเหตุของภาวะกลืนลําบากที่พบได้บ่อย คือความผิดปกติทางช่องปาก และคอหอยในผู้สูงอายุ คือโรคหลอดเลือดสมอง และภาวะสมองเสื่อม ซึ่งภาวะกลืนลำบาก มีความเสี่ยงต่อการสำลักในขณะรับประทานอาหาร อาจทำให้ปอดเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อ เพราะเศษอาหารหลุดเข้าไปที่หลอดลม และที่แย่ไปกว่านั้น คือเศษอาหารชิ้นใหญ่อาจเข้าไปอุดหลอดลมได้ ดังนั้น ผู้ดูแลควรปรับเตียง 45-90 องศา จับลุก นั่งบนเตียง โดยใช้หมอนช่วยดันหลังให้ทรงตัว นอกจากนี้ ควรปรับอาหารให้เหมาะสม
3.ความสะอาด
การชำระล้างร่างกาย และการขับถ่าย เป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ดูแลไม่ควรละเลย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีการใส่สายสวนปัสสาวะเข้าไปภายในร่างกาย เพราะเป็นการเพิ่มโอกาสการติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้น ผู้ดูแลควรเปลี่ยนสายสวนปัสสาวะให้ผู้ป่วยเป็นประจำทุก 2 – 4 สัปดาห์ และทำความสะอาดสายด้วยน้ำสบู่อ่อนๆ ทุกครั้ง หากพบว่าปัสสาวะของผู้ป่วยมีสีขุ่น ข้น หรือปัสสาวะไม่ออก ควรรีบพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที หมั่นดูแลความสะอาดในการขับถ่าย เพื่อป้องกันการรับเชื้อต่างๆ เข้าสู่ร่างกาย รวมทั้งการดูแลช่องปาก และฟัน
4.ภาวะสุขภาพจิต
ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยติดเตียง นอกจากจะมีปัญหาเรื่องสุขภาพจากความเสื่อมถอยของร่างกายแล้ว ปัญหาด้านสภาพจิตใจก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ผู้ดูแลจำเป็นต้องเอาใจใส่ เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละรายมีภาวะของโรคแตกต่างกัน แต่สิ่งที่คล้ายกัน คือความเบื่อหน่าย และความทุกข์ที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้ดูแลสามารถหากิจกรรมต่างๆ มาทำร่วมกับผู้ป่วย เพื่อผ่อนคลาย และลดความเศร้าลง ทำให้มีสุขภาพจิตที่ดีได้ หรือผู้ดูแลควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการดูแลผู้ป่วยอย่าง
เหมาะสม และความปลอดภัย
หลักการดูแลผู้สูงอายุในผู้ป่วยติดเตียงที่ถูกต้อง
หลักการดูแลนั้น ผู้ดูแลจำเป็นต้องระมัดระวังเรื่องแผลกดทับโดยการหมั่นพลิกตัว เปลี่ยนท่านอนของผู้สูงอายุทุกๆ 2 ชั่วโมง การขับถ่าย ควรหมั่นดูแลเรื่องความสะอาดและความเปียกชื้น การดูแลความสะอาดสิ่งแวดล้อมโดยรอบที่ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อของแผล ด้านอาหารควรเป็นอาหารที่ย่อยง่าย ลดภาวะท้องอืดและท้องผูก และมีสารอาหารที่ผู้สูงอายุต้องได้รับอย่างครบถ้วน การทำกายภาพบำบัดของผู้สูงอายุที่ต้องนอนติดเตียงให้ถูกต้องเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อต่อต่างๆ ติดขัด
รวมไปถึงการดูแลด้านอารมณ์และด้านจิตใจ เพราะผู้สูงอายุที่ติดเตียงมักจะมีอารมณ์หงุดหงิดง่าย มีความวิตกกังวล กลัวถูกทอดทิ้ง คิดมากเรื่องในอดีต กังวลเรื่องสุขภาพร่างกายที่ถดถอยลงไม่เหมือนเดิม รวมถึงโรคที่เป็นอยู่ จึงต้องการการดูแล และเอาใจใส่จากคนในครอบครัวเป็นพิเศษ เช่น การเข้าไปพูดคุย นำเรื่องไปเล่าให้ฟัง ไปขอคำแนะนำปรึกษาในเรื่องการดูแลบุตรหลาน เป็นการช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า การหากิจกรรมทำร่วมกันทั้งครอบครัว เป็นต้น
ท้ายที่สุด ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การดูแล ผู้สูงอายุ นอนติดเตียง ให้ประสบความสำเร็จได้นั้น คือ ทั้งสองฝ่ายจะต้องมีการปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ผู้ดูแลไม่ว่าจะเป็นลูกหลาน ญาติสนิท มิตรสหาย ควรพยายามเข้าหาผู้สูงอายุให้มากขึ้น หาโอกาสทำกิจกรรมร่วมกัน และเข้าใจถึงธรรมชาติของวัยผู้สูงอายุ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
บทความอื่นๆ
ผู้ป่วย อัลไซเมอร์ ไม่ยอมนอน ดูแลอย่างไรดี?
ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว ในผู้สูงอายุ อันตรายหรือไม่ รักษาอย่างไร?
5 ท่า บริหาร หัวใจ ผู้ สูงอายุ ช่วยให้ผู้สูงวัยหัวใจแข็งแรง