“หายใจไม่อิ่ม” ภาวะที่ผู้สูงอายุหลายๆ ท่านอาจจะกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งเป็นภาวะที่ส่งผลโดยตรงต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ เนื่องจากพวกท่านจะรู้สึกอึดอัด คล้ายๆ กับหายใจได้ไม่เต็มปอด ซึ่งมีสาเหตุที่เกิดได้จากหลายปัจจัยมากๆ อีกทั้งในปัจจุบัน ยังมีโรคระบาดอย่าง Covid-19 ที่ก็มีผลต่อการหายใจเช่นกัน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่หลายๆ คน สงสัยว่า อาการที่ผู้สูงอายุกำลังพบเจอนี้มาจากอะไรกันแน่ แล้วมีความรุนแรงถึงขั้นไหน
“หายใจไม่อิ่ม” เกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่?
หลายคนอาจเคยหรือกำลังเผชิญกับภาวะหายใจไม่สะดวก ซึ่งมีอาการอึดอัด หายใจไม่ออกหรือรู้สึกหายใจไม่เต็มปอด และแน่นหน้าอก หากอาการเหล่านี้ไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคร้ายหรืออาการป่วยที่เป็นอันตราย ก็อาจบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้
สาเหตุของอาการหายใจเหนื่อย ไม่เต็มปอด
อาการเหล่านี้หลายคนอาจมองว่าไม่ใช่อาการรุนแรง และอาจเกิดขึ้นเป็นปกติอยู่แล้ว หากคิดแบบนี้คงต้องบอกว่าถูกต้องเพียงครึ่งเดียว เนื่องจากอาการหายใจไม่สะดวก จากความเหนื่อยง่าย อาจไม่ใช่อาการเล็กน้อยเพียงอย่างเดียว หากแต่ส่วนหนึ่งของอาการเหล่านี้มีสาเหตุมาจากโรคร้ายที่เราไม่อาจมองข้ามไปได้ เช่น โรคหัวใจ โรคปอด หรือการติดเชื้อทางเดินหายใจ เป็นต้น
อาการที่เกิดขึ้นอาจเป็นผลมาจากการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การใช้แรงมากเป็นเวลานาน ไม่ค่อยออกกำลังกาย มีความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ มีอาการตกใจ หรืออาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายของเราส่งผลให้มีอาการเหนื่อยล้า และหายใจไม่สะดวก เช่น สถานที่ความกดอากาศต่ำอย่างยอดเขา สถานที่อุณหภูมิสูงจนเกินไป เป็นต้น สาเหตุที่กล่าวมานี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และสามารถกลับมาเป็นปกติได้ในเวลาต่อมา
โรคที่อาจเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะอาการ
โรคทางปอด
ซึ่งมีด้วยกันอยู่หลายชนิดไม่ว่าจะเป็นวัณโรค ปอดบวม หอบหืด หรือหลอดลมอักเสบ ถุงลมโป่งพอง เป็นต้น โรคที่กล่าวมานี้เกิดขึ้นได้ไม่ยาก และมักมีผลกระทบต่อการหายใจ เช่น การหายใจเหนื่อย หรือหายใจไม่เต็มปอด
สภาวะอื่นๆ ที่ส่งผลต่อทางเดินหายใจ
เช่น มีสิ่งแปลกปลอมขัดขวางทางเดินหายใจจากการทานอาหาร การเกิดอุบัติเหตุจนปอดเกิดความเสียหาย นอกจากนี้ยังสามารถเกิดจากโรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่โรคทางหัวใจ และโรคทางปอด อาทิเช่น โรคโลหิตจาง โรคไตเรื้อรัง โรคคอพอกเป็นพิษ โรคตับระดับรุนแรง ทั้งหมดที่กล่าวมาย่อมส่งผลต่อระบบหายใจทั้งสิ้น
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
โรคนี้ถือเป็นโรคที่มีความเสี่ยงแปรผันมากขึ้นไปตามอายุยิ่งเรามีอายุที่มากขึ้น และมีโรคประจำตัวร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือการเป็นโรคเบาหวาน โรคเหล่านี้จะยิ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรคขึ้นได้ด้วย และแน่นอนว่าผู้ป่วยโรคนี้ในอายุที่มากขึ้นจะมีอาการเหนื่อยง่ายกว่าคนทั่วไปเป็นหนึ่งในอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
แนวทางการแก้ไขอาการหายใจไม่สะดวก
ฝึกหายใจ
เป็นขั้นตอนที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับปัญหาการหายใจเช่นนี้ เนื่องจากการฝึกหายใจนั้นจะช่วยกำหนดจังหวะของลมให้ใจให้ทำงานได้ดีขึ้น โดยผู้สูงอายุสามารถทำตามได้ง่ายๆ ตามท่าฝึกลมหายใจ ดังนี้
-
การฝึกหายใจแบบห่อริมฝีปาก
หายใจเข้าทางจมูก แล้วห่อริมฝีปากแล้วค่อยปล่อยลมหายใจออกทางปากอย่างช้า ๆ ช่วยควบคุมจังหวะการหายใจให้ช้าลง ทำให้สูดหายใจได้ลึกขึ้น และสามารถรับออกซิเจนได้อย่างเต็มที่ วิธีนี้มักใช้ในขณะที่ทำกิจกรรมออกแรงอย่างหนัก เช่น การขึ้นบันได และการขนของ เป็นต้น
-
การฝึกหายใจด้วยท้อง
วางฝ่ามือข้างหนึ่งลงบนหน้าอก และวางฝ่ามืออีกข้างลงบนหน้าท้อง เมื่อหายใจเข้าให้ใช้ฝ่ามือกดลงบนหน้าท้องเบา ๆ เพื่อไล่อากาศ วิธีการนี้จะสามารถใช้ร่วมกันกับวิธีหายใจแบบห่อริมฝีปากได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยให้กล้ามเนื้อกะบังลมทำงานได้ดีขึ้น และหายใจสะดวกขึ้น
-
การฝึกหายใจขณะออกกำลังกาย
เน้นหายใจออกในขณะที่ต้องออกกำลังกายในท่าที่ใช้แรงมาก และควรวอร์มร่างกายก่อนออกกำลังกายทุกครั้ง
การออกกำลังกาย
ขณะออกกำลังกาย ร่างกายต้องการออกซิเจนมากขึ้น ทั้งในการหายใจและการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ อวัยวะสำคัญในการหายใจอย่างปอดและหัวใจจึงทำงานเพิ่มขึ้น และทำให้อวัยวะเหล่านี้แข็งแรงขึ้นไปด้วย ซึ่งเป็นผลดีต่อการหายใจนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายให้เพียงพอกับความต้องการและบรรเทาปัญหาหายใจไม่สะดวกต่อไป
ปรับพฤติกรรม
ซึ่งผู้สูงอายุบางท่านอาจตกอยู่ในการมีพฤติกรรมเสี่ยง และสิ่งแวดล้อมที่เสียงต่อการทำให้หายใจไม่สะดวก เช่น ต้องทำงานที่ใช้แรงเยอะๆ การติดบุหรี่ และการแวดล้อมไปด้วยสถานที่ที่มีมลพิษทางอากาศที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมไปถึงการรับประทานอาหารและการพักผ่อนให้เพียงพอด้วย ซึ่งบุตรหลานควรดูแลให้ผู้สูงอายุในครอบครัวลดพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด เพราะหากทำได้ก็จะส่งผลให้สุขภาพดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
หากมีอาการที่ผิดสังเกต ควรรีบไปพบแพทย์
ผู้สูงอายุที่เผชิญภาวะหายใจไม่สะดวกควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินหาสาเหตุที่ทำให้ไม่สามารถสูดหายใจได้อย่างเต็มที่ และควรเฝ้าสังเกตอาการของตนอยู่เสมอ เช่น หายใจลำบากและมีเสียงฟืดฟาด หายใจลำบากเมื่อนอนราบ มีไข้สูง รวมถึง ไอและมีอาการหนาวสั่น หากผู้สูงอายุมีอาการเช่นนี้ ควรรีบพาไปพบแพทย์
อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เกี่ยวกับการหายใจไม่อิ่มเช่นนี้มีระดับความรุนแรงหลายระดับ ซึ่งหากผู้สูงอายุมีระดับความรุนแรงที่ยังพอสามารถแก้ไขได้ด้วยตนเองที่บ้าน ลูกหลานก็สามารถดูแลได้อย่างใกล้ชิด แต่ถ้าหากมีอาการที่ผิดปกติหรือผิดสังเกตอื่นๆ ร่วมด้วย ก็ควรรีบพาผู้สูงวัยเข้าพบแพทย์โดยเร็วเพื่อเข้ารับการตรวจอาการและเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงนี้ เพราะในบางครั้งอาการหายใจไม่ทั่วปอดเช่นนี้ อาจไม่ได้มาจากอากาศร้อน หรือการที่ผู้สูงอายุใช้แรงเยอะเสมอไป เพราะอาจเกิดจากโรคร้ายต่างๆ นั่นเอง
บทความอื่นๆ
ผู้ป่วย อัลไซเมอร์ ไม่ยอมนอน ดูแลอย่างไรดี?
ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว ในผู้สูงอายุ อันตรายหรือไม่ รักษาอย่างไร?
5 ท่า บริหาร หัวใจ ผู้ สูงอายุ ช่วยให้ผู้สูงวัยหัวใจแข็งแรง