“มะเร็งในผู้สูงอายุ” ถือว่าเป็นโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทยเลยก็ว่าได้ สำหรับโรคมะเร็ง โรคร้ายที่ใครๆ ก็เป็นกังวล โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่สามารถป่วยได้ง่ายกว่าวัยอื่นๆ อีกทั้งยังมีระบบการทำงานของร่างกายที่เสื่อมสภาพลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้นด้วย จึงไม่แปลกที่จะทำให้พวกท่านจะเป็นกังวลและกลัวกันเป็นธรรมดา อย่างไรก็ดี มะเร็งนั้นมีหลายชนิด ซึ่งบางชนิดก็เกิดกับแค่เพศหญิงเท่านั้น หรือเพศชายเท่านั้น ดังนั้น บุตรหลานจึงควรศึกษาข้อมูลเพื่อสามารถนำไปดูผู้สูงอายุได้อย่างถูกวิธีนั่นเอง
“มะเร็งในผู้สูงอายุ” มีกี่ชนิด ผู้สูงอายุเพศไหนเสี่ยงมะเร็งชนิดใดบ้าง?
สำหรับโรคมะเร็งในผู้สูงวัยนั้น พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุทำให้ผู้สูงอายุของพวกเราต้องเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ทำไมโรคมะเร็งจึงพบได้บ่อยกับผู้สูงวัย ซึ่งก็มีหลายเหตุผลมากมาย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็อาจจะเป็นเพราะว่า อายุที่เยอะขึ้นเซลล์ในร่างกายของเรานั้นก็มีความเสื่อมชราและก็มีการกลายพันธุ์ แล้วก็เกิดเป็นก้อนเนื้อที่ควบคุมไม่ได้และกลายเป็นก้อนมะเร็ง ในที่สุด
สาเหตุของการเกิดมะเร็ง
สาเหตุของการเกิดมะเร็งนั้น ไม่จำเป็นต้องมาจากพันธุกรรมตามที่เข้าใจเสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกหลายๆ อย่างรวมถึงพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตด้วย เช่น
-
การกินเนื้อสัตว์ประเภทปิ้งย่าง อาหารทอด อาหารไขมันสูง หรือรับประทานอาหารซ้ำๆ
-
ไม่รับประทานผัก หรือ ผลไม้
-
ดื่มสุรา และ สูบบุหรี่
-
ความเครียด พักผ่อนน้อย ไม่ออกกำลังกาย
-
การได้รับแบคทีเรีย รังสี ไวรัส และพยาธิ รวมไปถึงโรคอ้วน
ลักษณะอาการ
อย่างที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าโรคมะเร็งจะเริ่มก่อตัวในร่างกาย มะเร็งบางชนิดอาจไม่มีความผิดปกติของร่างกายใดๆ ให้เห็น ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดก็คือการการตรวจคัดกรอง (Screening for cancer) เป็นการตรวจโรคในระยะต้น สามารถรักษาโรคเหล่านี้ได้ ปัจจุบันการตรวจคัดกรองมีประสิทธิผลสูงทั้งโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด และมะเร็งปากมดลูก เป็นต้น
5 อันดับมะเร็งที่เกิดในผู้สูงอายุแต่ละเพศ
เพศชาย เพศหญิง
อันดับ 1 มะเร็งตับ มะเร็งปากมดลูก
อันดับ 2 มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม
อันดับ 3 มะเร็งลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก มะเร็งตับ
อันดับ 4 มะเร็งช่องปาก มะเร็งปอด
อันดับ 5 มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก

แนวทางการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุเพื่อชะลอการเกิดมะเร็ง
-
ลดน้ำหนักในกรณีที่อ้วน
เนื่องจากน้ำหนักตัวที่เกินเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งเยื่อบุมดลูก
-
หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์เป็นปริมาณมาก
เนื่องจากแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งตับ มะเร็งหลอดอาหารและมะเร็งในช่องปาก
-
หยุดสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญสำหรับโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งช่องปาก โรคมะเร็งโพรงจมูก เป็นต้น
-
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์แก่ร่างกาย
ควรรับประทานอาหารที่มีกากใยมาก รับประทานผักและผลไม้เป็นประจำ จำกัดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงจากเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนมและอาหารปรุงสำเร็จ นอกจากนั้นควรหลีกเลี่ยงอาหารพวกปิ้ง ย่าง รมควัน เนื่องจากมีสารก่อมะเร็งในปริมาณมาก
-
ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน
เนื่องจากการที่ไม่ออกกำลังกายมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งเต้านม อย่างน้อยควรออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างน้อย 30 นาทีต่อครั้ง สัปดาห์ละ 3 ครั้ง และพยายามเปลี่ยนกิจกกรมที่ทำอยู่แล้วเป็นการออกกำลังกาย เช่น เดินขึ้นบันได แทนการใช้ลิฟท์ จอดรถไกลกว่าที่จอดเดิมและใช้การเดินแทน เป็นต้น
-
ตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี
และปฏิบัติตามคำแนะนำในการตรวจเพิ่มเติมของแพทย์ทุกปีเพื่อหามะเร็งปากมดลูกในระยะแรก ฝึกการตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือนและตรวจโดยแพทย์ทุก 1 ปี เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ทุกคนอาจเห็นแล้วว่ามะเร็งนั้น โดยปกติแล้วจะเริ่มก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ และในบางชนิดก็ไม่ออกอาการด้วย ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ บุตรหลานต้องหมั่นพาผู้สูงอายุไปตรวจสุขภาพประจำปี เนื่องจากปัจจุบัน ในทางการแพทย์นั้นสามารถรักษามะเร็งหายได้ ซึ่งหากตรวจเจอเร็ว ก็สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงทีนั่นเอง “มะเร็งในผู้สูงอายุ” นั้นไม่ว่าจะน่ากลัวสักแค่ไหน แต่ถ้าหากพวกท่านได้รับการดูแลอย่างดีจากคนในครอบครัว ก็สามารถห่างไกลจากโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน
บทความอื่นๆ
ผู้ป่วย อัลไซเมอร์ ไม่ยอมนอน ดูแลอย่างไรดี?
ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว ในผู้สูงอายุ อันตรายหรือไม่ รักษาอย่างไร?
5 ท่า บริหาร หัวใจ ผู้ สูงอายุ ช่วยให้ผู้สูงวัยหัวใจแข็งแรง