การใช้ยาในผู้สูงอายุ-ปัญหาการกินยาที่ไม่ควรปล่อยผ่าน

การใช้ยาในผู้สูงอายุ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่บุตรหลานไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้สูงวัยในบางครอบครัวนั้นมักมีปัญหาสุขภาพหลายด้าน ทำให้ได้รับยาหลายรายการ ดังนั้นจึงอาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับยาเกินความจำเป็น อาจเกิดผลข้างเคียงหรืออันตรายจากการใช้ยานั่นเอง จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม ปัญหาเช่นนี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากที่ลูกหลานควรใส่ใจ

การใช้ยาในผู้สูงอายุ-ปัญหาการกินยาที่ไม่ควรปล่อยผ่าน

การใช้ยาในผู้สูงอายุ มีปัญหาอย่างไรบ้าง และใช้อย่างไรให้ปลอดภัย?

เมื่อต้องเริ่มเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ พบว่าปัญหาสุขภาพก็มักเกิดตามมาทั้งการเจ็บป่วยที่บ่อยขึ้น รุนแรงมากขึ้น โรคประจำตัวมากขึ้น ทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีความจำเป็นในการใช้ยาหลายขนาน จนหลายครั้งผู้สูงอายุบางรายก็มีความกังวลใจ และเลี่ยงที่ไม่ใช้ยาเหล่านั้น เนื่องจากเกรงว่ายาซึ่งเป็นสารเคมีอย่างหนึ่ง หากได้รับเข้าไปมากหรือเป็นเวลานาน จะเกิดอันตรายต่อร่างกายได้มากกว่าประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น

การใช้ยาสำหรับผู้สูงอายุ สำคัญอย่างไร?

การใช้ยาในผู้สูงอายุนั้นมีความละเอียดอ่อนมากกว่าในบุคคลทั่วไป เนื่องจากร่างกายมีการตอบสนองต่อยาที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ ความสูงวัยทำให้ การดูดซึมยาลดลง ซึ่งอาจเป็นเพราะมีการไหลเวียนเลือดที่ทางเดินอาหารน้อยกว่าเดิม มีน้ำย่อยในทางเดินอาหารน้อยลง นอกจากนี้เมื่ออายุมากขึ้น สัดส่วนของเนื้อเยื่อไขมันจะเพิ่มขึ้น เป็นผลให้ยานอนหลับบางชนิดเช่น ไดอะซีแพม (diazepam) ซึ่งชอบจับกับเนื้อเยื่อไขมัน อยู่ในร่างกายนานขึ้น และมีฤทธิ์นานกว่าเดิม

ในส่วนของการกำจัดยาออกจากร่างกายนั้นพบว่า ผู้สูงอายุจะมีการเสื่อมถอยของอวัยวะต่างๆ ตับมีขนาดเล็กลง เลือดที่ไหลไปตับน้อยลง ปริมาณและความสามารถของเอนไซม์ในตับในการเปลี่ยนสภาพยาลดน้อยลง จำนวนหน่วยกรองในไตน้อยลง และเลือดที่มายังไตน้อยลง เป็นผลให้ยาถูกกำจัดออกทางตับและไต ได้น้อยลง และยามีระดับในเลือดสูงและอยู่นานกว่าในคนทั่วไป ดังนั้นการใช้ยาในผู้ป่วยสูงอายุ จึงต้องมีการปรับขนาดยาให้เหมาะสมตามสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล ภายใต้การดูแลของแพทย์ และเภสัชกรเพื่อความปลอดภัยสูงสุด

สิ่งต้องระวังเกี่ยวกับการใช้ยาในผู้สูงอายุ

ผู้ป่วยสูงอายุ และผู้ดูแลควรหลีกเลี่ยงการซื้อยาสมุนไพร ยาหม้อ และยาลูกกลอนมารับประทานเอง เนื่องจากอาจมีผลเสียต่อร่างกาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีปัญหาปวดข้อตามที่ต่างๆ ผู้ป่วยมักเข้าใจว่าปลอดภัยเพราะทำมาจากสมุนไพร แต่มักมีการผสมยาประเภทสเตียรอยด์ ทำให้หายปวดข้อได้จริงแต่มีผลเสียในระยะยาวมากมาย เช่น กระดูกพรุน ต่อมหมวกไตฝ่อ เบาหวาน และความดันโลหิตสูง และอย่าเก็บยาที่เหลือไว้รับประทานครั้งต่อไป เนื่องจากยาอาจหมดอายุหรืออาจไม่ใช้ยาตัวเดิม ไม่ควรหยุดยาเอง ซึ่งอาจเกิดจากผู้สูงอายุไม่ชอบประทานยา บางรายถึงขั้นปรับขนาดยาเองโดยที่ไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะเห็นว่าอาการดีมากขึ้นแล้ว ส่งให้ผู้ป่วยไม่ได้รับยาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับประทานอย่างต่อเนื่อง เพราะเดินทางมาพบแพทย์ไม่สะดวก ซึ่งพบได้บ่อยโดยที่ญาติมาขอรับยาเดิมจากแพทย์ โดยไม่พาผู้ป่วยมารับการติดตาม บางรายกินยาชุดเดิมอยู่หลายปี จุดนี้เองที่สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้สูงอายุ ยาเหล่านี้จะสะสมจนเกิดเป็นพิษได้โดยไม่รู้ตัว

 

สาเหตุที่ทำให้พบอุบัติการณ์ของผลข้างเคียงจากยาเพิ่มขึ้นในผู้สูงอายุ

มีได้หลายปัจจัย ดังต่อไปนี้

  • การได้ยาหลายๆ ชนิดในเวลาเดียวกัน

  • การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาจากความชรากับการกำจัดยาออกจากร่างกาย

  • การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาจากความชรากับการออกฤทธิ์ของยา

  • พฤติกรรมของผู้ป่วยสูงอายุ

การลืมรับประทานยาส่งผลต่อการรักษาโรค ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุไม่ลืมรับประทานยา

นอกจากการมีผู้ดูแลคอยจัดยาแล้ว ยังมีเครื่องมืออื่นๆ ที่สามารถเลือกใช้เป็นตัวช่วยในการรับประทานยาให้ถูกต้องมากขึ้น ตัวอย่างเช่น

กล่องใส่ยา

เช่น กล่องใส่ยาที่ระบุวันของสัปดาห์ ผู้สูงอายุที่มีการรับประทานยาหลายชนิดและมีความซับซ้อนอาจเลือกกล่องยาที่แยกเป็นมื้อละเอียดมากขึ้น

นาฬิกาปลุก

สามารถเลือกใช้นาฬิกาข้อมือหรือโทรศัพท์มือถือตั้งเวลาปลุกเตือนเมื่อถึงเวลารับประทานยา

แอปพลิเคชัน

สำหรับเตือนให้รับประทานยาในสมาร์ตโฟน สามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้ ไม่แนะนำให้เตรียมยาล่วงหน้าครั้งละมากๆ หากเป็นยาบรรจุแผง แนะนำให้ตัดแผงยาตามเม็ดและเอาเม็ดยาออกจากแผงเมื่อจะรับประทานเท่านั้น เนื่องจากยาบางชนิดอาจไวต่อแสงหรือความชื้นทำให้เสื่อมสภาพได้ง่ายนั่นเอง

ผู้สูงอายุควรใช้ยาอย่างไรจึงจะปลอดภัย

ผู้สูงอายุมีสภาพร่างกายที่เสื่อมไปตามวัย ทั้งการเคลื่อนไหว สายตา และความจำ ดังนั้นจึงควรมีผู้ดูแลคอยจัดยาให้เพื่อให้มั่นใจว่าผู้สูงอายุสามารถใช้ยาได้อย่างถูกต้อง โดยสิ่งที่สำคัญในการเริ่มใช้ยาคือ การอ่านฉลากยาให้ถี่ถ้วน เพื่อให้สามารถช้ยาได้อย่างถูกคน ถูกโรค ถูกขนาด ถูกวิธี และถูกเวลา

กลุ่มยาที่ผู้สูงอายุควรระมัดระวังการใช้เป็นพิเศษ

ยากลุ่มที่ผู้สูงอายุควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ยานอนหลับ ยาคลายเครียด ยาแก้แพ้ และยาแก้ปวด ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น เวียนศีรษะ ง่วงซึม สับสน และเพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้มได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) อาจทำให้ผู้สูงอายุเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูงขึ้นหรือไตวายได้ ดังนั้นจึงควรเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ยากลุ่มนี้ในผู้สูงอายุที่มีประวัติความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือโรคไต อย่างไรก็ดีผู้สูงอายุไม่ควรซื้อยารับประทานเองและควรใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น

สิ่งที่บุตรหลานควรดูแล เมื่อผู้สูงวัยต้องใช้ยา

การติดตามรับการรักษาจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

ผู้สูงอายุจำนวนมากมักไม่ชอบมาพบแพทย์ เนื่องจากข้อจำกัดทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และกลัวว่าลูกหลานจะต้องเสียค่าใช้จ่าย ทางด้านร่างกายเช่น มีอาการเดินลำบากเนื่องจากปวดข้อจากข้อเข่าหรือข้อเท้าเสื่อม ภาวะหัวใจวายหรืออัมพาตครึ่งซีก เป็นต้น

การซื้อยารับประทานเอง

ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งประชาชนสามารถซื้อยารับประทานเองได้เพียงไม่กี่ชนิด เช่น ยาแก้ปวด ลดไข้ ยาระบาย ยาลดกรด และวิตามินชนิดต่างๆ แต่ก็พบว่า 20 % ของผู้ป่วยสูงอายุที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากผลข้างเคียงของยา เกิดจากยาที่ผู้ป่วยซื้อรับประทานเอง ในประเทศไทยที่ประชาชนมีเสรีภาพเต็มที่ในการซื้อยาใดๆ ก็ได้จากร้านขายยา น่าจะมีสถิติของอุบัติการณ์ดังกล่าวมากกว่านี้หลายเท่า

การเก็บสะสมยา

ผลจากการที่ผู้สูงอายุมักมีโรคเรื้อรังและได้รับยาหลายชนิด เนื่องจากมีพยาธิสภาพของอวัยวะหลายๆ ระบบ ทำให้ได้รับยาจากแพทย์มาเป็นระยะ ผู้ป่วยบางรายอาจจะเก็บสะสมยาไว้ โดยไม่ได้รับประทานหรือรับประทานไม่หมด ก็เก็บรวมๆ กันไว้ คราวใดที่อาการเจ็บป่วยก็จะเลือกรับประทานยาจากที่สะสมไว้ ชนิดที่เคยรับประทานได้ผล โดยยานั้นอาจจะหมดอายุแล้วหรือมีข้อห้ามใช้ยานั้นเกิดขึ้นใหม่ในขณะนั้น ก็ทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยาได้

การรับประทานยาตามแพทย์สั่ง

ผู้ป่วยหลายรายมักไม่รับประทานยาตามแพทย์สั่ง ทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่ไม่ถูกเวลาและขนาดที่แพทย์จัดให้เหมาะสมอยู่แล้ว ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ ได้แก่

  • ลักษณะการบริหารยาที่ยุ่งยาก เช่น รับประทานวันละหลายครั้ง หรือต้องรับประทานยาเป็นเวลายาวนาน
  • ผู้ป่วยหยุดยาเอง เพราะเกิดผลข้างเคียงจากยา แล้วไม่ได้ปรึกษาแพทย์ต่อ
  • สายตาไม่ดีหรือฉลากยาที่เขียนไม่ชัดเจน

อย่างไรก็ดี อีกปัจจัยที่มีผลต่อการใช้ยา ดังนั้นควรแจ้งให้แพทย์ทราบ และใช้ตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรอย่างเคร่งครัด สุดท้ายนี้ไม่ว่าเราจะอายุมากขึ้นหรือมีปัญหาสุขภาพ ต้องใช้ยาวันละหลายๆ อย่าง แต่หากเราใช้ยาอย่างถูกวิธี ไม่ขาดยาหรือรับประทานยาเกินที่กำหนด มาตรวจติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ เราก็สามารถเป็นผู้สูงอายุที่สุขภาพดี และดูแลตัวเองได้ดีอย่างมีประสิทธิภาพได้เช่นกัน


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

บทความอื่นๆ

หากสนใจหรืออยากสอบถามบริการ สามารถสอบถามได้ที่ รักษ์คุณ โฮมแคร์ & รักษ์คุณ เฮลท์ รีแฮบิลิเทชั่น

เบอร์โทรศัพท์ 062-442-5962 

เวลาทำการ จันทร์ – อาทิตย์ 08.00-20.00 น.

Line รักษ์คุณ โฮมแคร์: @rukkhun.hc (มี @)

เพิ่มเพื่อน

Facebook Page: รักษ์คุณ โฮมแคร์

รักษ์คุณ เฮลท์ รีแฮบิลิเทชั่น Rukkhun Health Rehabilitation Rukkhun Home Care รักษ์คุณ โฮมแคร์
บริการ รักษ์คุณ โฮมแคร์ เป็นสถานบริการดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยหลอดเลือดในสมองตีบ ผู้สูงอายุ ทั้งระยะสั้น และระยะยาว ดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัด ฟื้นฟูสมรรถภาพหลังอาการเจ็บป่วยโดยทีมสหวิชาชีพ ประกอบไปด้วย ทีมแพทย์เฉพาะทาง มีแพทย์ที่พร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชม. ทีมผู้ดูแลที่มีประสบการณ์ในการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ให้บริการกระตุ้นสมองด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า (TRANSCRANIAL MAGNETIC STIMULATION: TMS) และกายภาพบำบัดครบวงจร (REHABILITATION CENTER) พร้อมให้คำปรึกษาตรวจและรักษาโดยนักกายภาพบำบัดผู้เชี่ยวชาญ ที่นี่เราให้เป็นมากกว่าสถานบริการพยาบาลเพราะเราเน้นการให้บริการแบบครบวงจร ทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่รักในการบริการพร้อมดูแลผู้สูงวัยทุกท่านประดุจญาติผู้ใหญ่ของตนเอง มีบริการดูแลช่วยเหลือกิจวัตรประจำวัน ดูแลทำความสะอาดร่างกายโดยทั่วไปในกรณีที่ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ตรวจวัดความดัน ชีพจร อุณหภูมิ ออกซิเจน กายภาพบำบัด ดูแลสุขภาพตามคำสั่งแพทย์ บริการอาหาร 3 มื้อ และอาหารว่างที่มีทีมดูแลด้านโภชนาการให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลโดยเฉพาะ รวมทั้งมีกิจกรรมสันทนาการให้ผู้สูงวัย นอกจากนี้เราก็ใส่ใจด้านความปลอดภัยอย่างสูงสุดด้วยการติดกล้องวงจรปิดทุกจุดในสถานที่พักตลอด 24 ชั่วโมง