คลื่นไฟฟ้าสมองผิดปกติ หลายคนอาจไม่เคยทราบว่าเป็นสาเหตุหลักๆ ของโรคลมชักเลยก็ว่าได้ ซึ่งโรคนี้ค่อนข้างน่ากลัวหากเกิดในผู้สูงอายุ เพราะอาการชักอย่างต่อเนื่องสามารถก่อให้เกิดความพิการทางสมองและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงทีและยังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ถ้าไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลที่บุตรหลานควรทำความเข้าใจกับสาเหตุและวิธีการป้องกันให้ดีขึ้น เพื่อนำไปปฏิบัติดูแลผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คลื่นไฟฟ้าสมองผิดปกติ คืออะไร ทำไมจึงเป็นสาเหตุของโรคลมชัก
โรคลมชัก คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของร่างกาย จนทำให้เกิดอาการชัก โรคลมชักสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่พบมากในผู้สูงอายุเนื่องจากสมองที่เริ่มเสื่อมลง โดยโรคลมชักนั้นไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถช่วยให้อาการสงบและไม่มีอาการชักกำเริบได้
โรคลมชัก เกิดจาก…
โรคลมชักเป็นอาการที่เกิดจาก “คลื่นไฟฟ้าสมองผิดปกติ ” เช่น อาจจะมีจุดที่ไฟฟ้าในสมองช็อตหรือลัดวงจรพูดง่ายๆ ทำให้อาการชักเกิดขึ้นโดยจะเกิดอาการได้หลายแบบ ซึ่งบางรายที่มาหาคุณหมอก็มีอาการแค่เหมือนเหม่อกะพริบตาแล้วก็ไม่รับรู้โลกภายนอกแค่กะพริบตาหรือขยับเคี้ยวปากนิดหน่อยขณะที่บางคนก็รับรู้ตัวโดยยังมีสติรับรู้อยู่เพียงแต่ว่าควบคุมอาการกระตุกหรืออาการสั่นที่เกิดขึ้นไม่ได้ มีการกระตุกหรือสั่นเป็นจังหวะ
ซึ่งสาเหตุที่ชักจะมีหลายอย่าง จากปัจจัยทางสมองเองก็ได้โดยที่บางคนมีโรคความพิการทางสมองมาแต่กำเนิดหรือเป็นโรคทางพันธุกรรมมีประวัติครอบครัวมีอาการชักในบางรายมีเนื้องอกในสมอง หรือเคยมีเลือดออกในสมองมีแผลเป็นเนื้อสมองเกิดขึ้นเพราะสมองมีการพัฒนาการที่ผิดปกติหรือเกิดจากการติดเชื้อ มีลักษณะเนื้อสมองอักเสบหรือเป็นฝีในเนื้อสมองก็ได้
โรคลมชักในผู้สูงอายุ อันตรายอย่างไร?
ความอันตรายของอาการชักคือผู้ป่วยจะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ไม่รู้สึกตัว จึงอาจจะเกิดภาวะอุบัติเหตุแทรกซ้อน เช่น กำลังทำอะไรอยู่บนที่สูงขณะเกิดอาการชักก็อาจล้มหรือพลัดตกลงมา หรือหากชักขณะว่ายน้ำก็จมน้ำได้ หรือถือของร้อน ของแหลมของมีคมก็เกิดอันตรายจากอุบัติเหตุตามมาได้หรืออย่างกรณีที่กล่าวไปในเบื้องต้นคือ หากเกิดอาการชักอย่างต่อเนื่องสามารถก่อให้เกิดความพิการทางสมองและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที อีกกรณีหนึ่งที่อันตรายคือผู้สูงอายุเกิดอาการชักขณะกำลังขับรถนั่นเอง
การตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Brain) เพื่อหาสาเหตุลมชัก
การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง หรือ EEG นั้น จะเป็นตัวบ่งถึงสัญญาณไฟฟ้าที่ผิดปกติว่ามาจากบริเวณไหน และความถี่ของการกระจายของไฟฟ้าส่วนหนึ่งเท่านั้นแต่ EEG จะไม่สามารถบอกถึงพยาธิสภาพได้ ซึ่งในปัจจุบันทางศูนย์ฯ ได้นำ MRI Brain มาใช้ประกอบในการตรวจวินิจฉัย ประโยชน์ของ MRI Brain คือ ช่วยในการยืนยันพยาธิสภาพหลังจากตรวจ EEG แล้วว่า รอยโรคเป็นชนิดอะไร ซึ่งถ้าเราพบว่า พยาธิสภาพที่กระตุ้นให้เกิดอาการชักเกิดจากเนื้องอก หลอดเลือดผิดปกติ การรักษาก็จะไม่ใช้ยาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยการผ่าตัดเข้ามาประกอบด้วย
ลักษณะอาการของโรคลมชัก
อาการชักที่มีเกิดขึ้นกับสมองทั้งสองซีก (Generalized Seizures)
ชักแบบเหม่อลอย (Absence Seizures)
มักเกิดขึ้นในเด็ก โดยจะเกิดอาการเหม่อลอย อาจมีการกะพริบตา หรือขยับริมฝีปากเพียงเล็กน้อย ซึ่งอาจทำให้เกิดการเสียการรับรู้ในระยะสั้นๆ ได้
ชักแบบชักเกร็ง (Tonic Seizures)
เกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณหลัง แขน และขา
ชักแบบกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Atonic Seizures)
เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงลง โดยจะไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อขณะเกิดอาการได้จนทำให้ผู้ป่วยหกล้มได้
ชักแบบชักกระตุก (Clonic Seizures)
เกิดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวซ้ำๆ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณคอ ใบหน้า และแขน
ชักแบบชักกระตุก และเกร็ง (Tonic-clonic Seizures)
เกิดอาการกล้ามเนื้อเกร็งและกระตุกทำให้ผู้ป่วยล้ม และหมดสติได้ เมื่ออาการบรรเทาลง ผู้ป่วยอาจรู้สึกเหนื่อยหอบเนื่องจากอาการชักกระตุก
ชักแบบชักสะดุ้ง (Myoclonic Seizures)
มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน โดยจะเกิดอาการชักกระตุกบริเวณแขนและขาคล้ายกับโดนไฟฟ้าช็อต
อาการชักที่เกิดขึ้นกับสมองเฉพาะบางส่วน (Partial หรือ Focal Seizures)
ทำให้เกิดอาการชักที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเท่านั้น มี 2 ประเภท ได้แก่
ชักแบบรู้ตัว (Simple Focal Seizures)
ผู้ป่วยยังมีสติครบถ้วน แต่จะมีความรู้สึกแปลกๆ เช่น รู้สึกเหมือนเดจาวู ประสาทการรับกลิ่น หรือรับรสชาติแปลกไป รู้สึกชาที่แขน และขา เป็นต้น
ชักแบบไม่รู้ตัว (Complex Partial Seizures)
ผู้ป่วยไม่รู้ตัว และไม่สามารถจดจำได้ว่าเกิดอาการขึ้นเมื่อใด โดยมีสัญญาณเตือน เช่น ถูมือ ทำเสียงแปลกๆ หมุนแขนไปรอบๆ จับเสื้อผ้า เล่นกับสิ่งของในมือ อยู่ในท่าทางแปลกๆ เป็นต้น
แนวทางการดูแลผู้สูงอายุเพื่อป้องกันอาการชัก
แม้ว่าจะยังไม่สามารถทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคลมชัก แต่ในบางกรณีก็สามารถป้องกันไม่ให้อาการชักกำเริบได้ด้วยวิธีเหล่านี้
- รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและถูกต้อง ผู้ป่วยโรคลมชักไม่ควรเปลี่ยนปริมาณยาด้วยตัวเอง ควรปรึกษาแพทย์หากรู้สึกว่าการรับประทานยาไม่สามารถควบคุมอาการชักได้
- นอนหลับให้เพียงพอ การนอนหลับไม่เพียงพอสามารถกระตุ้นอาการชักได้ ดังนั้นจึงควรนอนหลับวันละ 6-8 ชั่วโมง
- ออกกำลังกาย การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมจะช่วยให้สุขภาพแข็งแรงมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดอาการภาวะซึมเศร้าได้ แต่ก็ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ และควรหยุดพักหากรู้สึกเหนื่อย
การปฐมพยาบาล “อาการชักในผู้สูงอายุ” ที่ถูกต้องนั้นควรทำอย่างไร?
- ห้ามนำสิ่งของใดๆก็ตามยัดปากผู้ป่วย
- พยายามจับผู้ป่วยนอนตะแคง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำลายอุดกั้นทางเดินหายใจ
- พยายามหาหมอนหรือสิ่งของนุ่มๆ วางรองศีรษะผู้ป่วย เพื่อป้องกันศีรษะกระแทก
- จับเวลา ถ้าชักนานเกิน 3 นาที ผู้ป่วยจะมีภาวะเสี่ยงต่อการชักต่อเนื่อง ควรรีบเรียกรถพยาบาลโดยเร่งด่วน
- ถ้าผู้ป่วยใส่เสื้อผ้ารัด หรือสวมเนกไท ควรปลดให้หลวมเพื่อให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวก
- ถ้าขณะชักผู้ป่วยใส่แว่นควรถอดออก เพื่อป้องกันการแตก
อย่างไรก็ดี หากบุตรหลานสังเกตได้ว่าผู้สูงอายุมีอาการผิดปกติ และมีอาการชักเกร็ง ควรรีบพาไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการวินิจฉัย เพราะจากที่กล่าวไปข้างต้นว่าโรคลมชักเป็นโรคที่อันตรายมากถึงแก่ชีวิต หากผู้สูงอายุมีอาการอย่างต่อเนื่องอาจเกิดเหตุเลวร้ายขึ้น ดังนั้น บุตรหลานไม่ควรปล่อยละเลย และต้องใส่ใจดูแลเพื่อป้องกันให้ได้อย่างทันท่วงทีด้วย
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
บทความอื่นๆ
ผู้ป่วย อัลไซเมอร์ ไม่ยอมนอน ดูแลอย่างไรดี?
ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว ในผู้สูงอายุ อันตรายหรือไม่ รักษาอย่างไร?
5 ท่า บริหาร หัวใจ ผู้ สูงอายุ ช่วยให้ผู้สูงวัยหัวใจแข็งแรง